ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรม ผอ.รพ.สต. เร่ง ก.พ.-สป.สธ.ทบทวนแก้ปัญหาปรับ ผอ.รพ.สต.สู่ นวก.สธ.ชำนาญการ หลัง ก.พ.ชะงักไม่ปรับโอนตำแหน่งเพิ่ม แต่กำหนดต้องสอบแข่งขันแทน ทำ ผอ.รพ.สต. 1.8 พันคน ได้รับผลกระทบ วิชาชีพไม่ก้าวหน้า ซ้ำถอยหลัง แถมสร้างความเหลื่อมล้ำในระบบ

 

นายประเมธ ช่วยศิริ ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ผอ.รพ.สต.) (สายเจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน) เปิดเผยว่า จากปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในตำแหน่ง ผอ.รพ.สต. ซึ่งชมรม ผอ.รพ.สต.ได้เริ่มทำหนังสือร้องทุกข์ต่อสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2558 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา โดยปัญหานี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่มี พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ในการปรับตำแหน่งข้าราชการเข้าสู่ระบบแท่ง และต่อมา สป.สธ.ทำการปรับในส่วนตำแหน่งหัวหน้าสถานีอนามัย (ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็นตำแหน่ง ผอ.รพ.สต.) โดยให้เจ้าหน้าพนักงานสาธารณสุข (จพ.สธ.) ระดับ 6 ปรับให้เป็นนักวิชาการสาธารณสุข (นวก.สธ.) ชำนาญการได้ แต่จำกัดให้แต่เฉพาะผู้ที่จบวุฒิปริญญาตรี ซึ่งมีเพียง 180 ตำแหน่ง

ส่วนหัวหน้าสถานีอนามัยที่ยังไม่มีวุฒิปริญญาตรีได้ปรับให้เป็น จพ.สธ.ระดับชำนาญงานเท่านั้น และภายหลังยังไม่มีการปรับให้เป็นตำแหน่ง นวก.สธ.ระดับชำนาญการเพิ่มเติม แม้ว่าจะเป็นหัวหน้าสถานีอนามัยที่จบปริญญาตรีในภายหลัง

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถานีอนามัยหลังปี 2551 ซึ่งได้รับบรรจุในตำแหน่ง จพ.สธ.ระดับชำนาญงานไม่ได้ถูกปรับให้เป็น นกว.สธ.ระดับชำนาญการ ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นกัน ทำให้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของ ก.พ. และ สป.สธ.ซึ่งไม่ได้มีการปรับตำแหน่งประมาณ 1,800 ตำแหน่ง 

นายประเมธ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทาง สธ.ได้เคยทำหนังสือตอบมายังชมรม ผอ.รพ.สต. แต่มองว่าเป็นการตอบปัญหาที่ไม่ตรงประเด็น เนื่องจาก สป.สธ. ได้อ้างถึงมติ ก.พ. ตามหนังสือ ว.450/2558 กำหนดหลักเกณฑ์การปรับตำแหน่งเข้าสู่สายวิชาการต้องทำการสอบแข่งขันเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะการสอบใหม่ได้กำหนดให้เริ่มสายวิชาการในระดับปฏิบัติการ ส่งผลให้ตำแหน่งและเงินเดือนผู้ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถานีอนามัยถูกลดลง อีกทั้งก่อนหน้านี้ ก.พ.ได้มีการออกหลักเกณฑ์กรณีพิเศษ ตามหนังสือ ว.14/2552 ซึ่งให้ ผอ.รพ.สต.ที่มีวุฒิปริญญาตรีปรับโอนเป็น นวก.สธ.ระดับชำนาญการโดยไม่ต้องสอบ ฉะนั้นกรณีของหัวหน้าสถานีอนามัยซึ่งได้มีการปรับวุฒิปริญญาตรีในภายหลัง จึงควรใช้หลักเกณฑ์ตามหนังสือ ว.14/2552 เป็นตัวตั้งในการพิจารณาและปรับให้เป็น นวก.สธ.ชำนาญการเช่นกัน

ดังนั้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 ทางชมรม ผอ.รพ.สต. จึงได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ทบทวนคำร้องทุกข์นี้

ทั้งนี้จากการติดตามความคืบหน้าจากกลุ่มบริหารงานบุคคล สป.สธ. ได้รับแจ้งว่า สป.สธ.ได้ส่งหนังสือไปยังเลขาธิการ ก.พ. เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 เพื่อขอให้ทบทวนมติ ก.พ.ในเรื่องนี้แล้ว และเมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา ชมรม ผอ.รพ.สต.ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อติดตามความคืบหน้าเพิ่มเติม แต่ได้รับคำตอบว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหนังสือตอบกลับเรื่องนี้จาก ก.พ.

“ปัญหานี้ได้ส่งผลต่อขวัญและกำลังใจผู้ปฏิบัติงานอย่างมาก อย่างกรณีของตนเองดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถานีอนามัยชำนาญงาน ระดับ 6 มาก่อนปี 2543 แต่พอทำงานมาอยู่ๆ ในปี 2551 กลับถูกปรับลดตำแหน่งถอยหลังเป็น จพ.สธ.ชำนาญงาน เนื่องจากไม่ได้มีวุฒิปริญญาตรีในขณะนั้น แม้ว่าจะมีการเรียนเพิ่มเติมจนได้ปริญญาตรีในภายหลังแล้วก็ไม่สามารถปรับตำแหน่งได้ ถึงเงินเดือนถึงจะไม่ถูกปรับลด โดยยังคงในอัตราเดิม แต่ส่งผลต่อความก้าวหน้าในวิชาชีพ เพราะไม่มีการปรับเป็น นวก.สธ.ชำนาญการ เท่ากับชีวิตข้าราชการอีก 10 ปี ต้องอยู่ในตำแหน่งนี้ไปจนเกษียณ ขณะที่ยังมีลูกน้องตำแหน่ง นวก.สธ.ชำนาญการ และพยาบาลวิชาชีพชำนาญการที่สูงกว่า ตรงนี้ทำให้รู้สึกแย่มาก”

นายประเมธ กล่าวว่า ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบการทำงานกับ ผอ.รพ.สต.ด้วยกัน ซึ่งมีตำแหน่ง นกว.สธ.ชำนาญการ ทั้งในแง่การปฎิบัติงานและการดำเนินงานตัวชี้วัดตามนโยบาย สธ.ไม่มีความแตกต่างกันเลย แต่ตำแหน่งและขวัญกำลังใจที่ได้รับการแตกต่างกัน ทั้งนี้ในส่วนอัตราค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายนั้น ตำแหน่ง จพ.สธ.จะอยู่ที่อัตรา 600-900 บาท ขณะที่ตำแหน่ง นวก.สธ.อยู่ที่ 1,200-1,800 บาท ทำให้รู้สึกต่ำต้อยและน้อยใจ 

นายประเมธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของหลักเกณฑ์ ก.พ.ตามหนังสือ ว.450/2558 ที่กำหนดให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งสายวิชาการต้องสอบใหม่นั้น กรณีของ ผอ.รพ.สต.หากสอบใหม่ต้องถูกบรรจุสายวิชาการในระดับปฏิบัติการก่อน เท่ากับเป็นการลดตำแหน่ง ผอ.รพ.สต.ลงอีก เช่นเดียวกับเงินเดือนที่ต้องถูกปรับลดอีกประมาณหมื่นบาท

นอกจากนี้ในการสมัครสอบอาจต้องสละตำแหน่ง ผอ.รพ.สต.ไปด้วย เพราะไม่ทราบว่าหลังจากสอบแล้วกลับมาจะยังคงตำแหน่งนี้หรือไม่ อาจมีการเปิดสอบใหม่โดยมีคนอื่นมาทำหน้าที่ ผอ.รพ.สต.แทน เท่ากับอาจต้องกลับไปปฏิบัติงานที่ รพ.สต.เดิมในฐานะลูกน้องแทน จากเดิมที่เป็น ผอ.รพ.สต. ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่านอกจากการทำงานที่ไม่มีความก้าวหน้าแล้ว ยังมีแต่ถอยหลัง กลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนกำลังใจผู้ปฏิบัติงานอย่างมาก จึงอยากให้ ก.พ. และ สธ.เร่งแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว 

“ขณะนี้เราคงต้องรอคำตอบจาก ก.พ.ก่อน ซึ่งจากการติดตามล่าสุดก็ยังไม่มีคำตอบกลับมา ซึ่งไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหน แต่หากยังไม่มีความคืบหน้า ทางชมรม ผอ.รพ.สต.คงหารือเพื่อหามาตรการเพื่อขอความเป็นธรรมต่อไป อย่างไรก็ตามที่ สธ.มีการจัดประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหากำลังคนให้กับวิชาชีพต่างๆ ในระบบทุกวันศุกร์สิ้นเดือน ซึ่งมี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ.เป็นประธาน จะมีการนำเรื่องนี้เข้าพูดคุยในที่ประชุมอีกครั้ง” นายประเมธ กล่าว