ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปฏิบัติการพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ พบนวัตกรรม “โรงเรียนผู้สูงอายุ – โฮมวอร์ด – ปฏิบัติการเชิงรุกป้องกันโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน” นำร่องหลักสูตรสร้างเสริมสุขภาพวิชาชีพการพยาบาล 5 สถาบันอุดมศึกษา เล็งสร้างพยาบาลนักสร้างเสริมสุขภาพ ชี้เป็นผู้ให้บริการสุขภาพกลุ่มใหญ่ที่สุดถึง 180,000 คน ในระบบสาธารณสุขไทย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับ สภาการพยาบาล และ 5 สถาบันอุดมศึกษา ประกอบด้วย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “แนวทางการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพและข้อเสนอเพื่อการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพสำหรับวิชาชีพการพยาบาล” ระหว่างวันที่ 25-26 พ.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. โดยมีพยาบาลเข้าร่วมกว่า 400 คน

.เกียรติคุณ วิจิตร ศรีสุพรรณ

.เกียรติคุณ วิจิตร ศรีสุพรรณ ประธานคณะกรรมการโครงการขับเคลื่อนวิชาชีพการพยาบาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาพถือเป็นบทบาทหนึ่งของวิชาชีพการพยาบาล ซึ่งมีอยู่ในกฎหมายการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ตั้งแต่ปี 2528 แต่ด้วยภาระงานที่มากทำให้การใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยมากกว่าการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งที่การสร้างเสริมสุขภาพมีต้นทุนที่ถูกกว่าการรักษา จึงมีการศึกษาถึงมาตรการและแนวทางให้เกิดบทบาทของการพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ จึงเกิด 7 ชุดการเรียนรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น บทบาทพยาบาลนักสร้างเสริมสุขภาพโดยมีเครื่องมือการประเมินสุขภาพกายและสุขภาพจิตทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว  และชุมชน การสร้างทักษะภาวะผู้นำเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคน การสร้างนโยบายสาธารณะและการสร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชน เป็นต้น

รศ.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า ชุดการเรียนรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพจะนำไปสู่หลักสูตรการเรียนรู้ 3 หลักสูตรสำหรับสำหรับนักศึกษาพยาบาล พยาบาลวิชาชีพ และพยาบาลเฉพาะทาง นำร่องในคณะพยาบาลศาสตร์ 5 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และแหล่งฝึกปฏิบัติที่สรุปบทเรียนและความรู้จากการทำงานจริงมาสร้างเป็นบทเรียน ให้เรียนรู้จากของจริงด้วยการใช้กรณีศึกษานวัตกรรมที่ประสบผลสำเร็จจากการปรับระบบบริการให้ประชาชนได้เข้าถึง มาเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ เช่น  โรงเรียนผู้สูงอายุ โฮมวอร์ด(Home ward) หรือทีมสหสาขาวิชาชีพเยี่ยมบ้าน ปฏิบัติการเชิงรุกป้องกันโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน ปฏิบัติการ 3 ไม่ เพื่อแก้ปัญหาโรค NCDในชุมชน ได้แก่ไม่ดื่มน้ำอัดลมในงานเลี้ยง ไม่จิ้มพริกเกลือ ไม่เติมน้ำปลาในร้านอาหารของชุมชน และงานศพปลอดเหล้า เป็นต้น

ตัวอย่างโรงเรียนผู้สูงอายุ รพ.สต.ท่าขาม จ.ขอนแก่น เกิดจากพยาบาลใน รพ.สต.บ้านท่าขามเล็งเห็นจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและพบปัญหาสุขภาพที่สำคัญคือความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง จึงดึงความร่วมมือจาก อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ผู้อำนวยการโรงเรียนตำบลท่าขาม ประธานชมรมผู้สูงอายุ อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน จนเกิดโรงเรียนผู้สูงอายุ โดยใช้อาคารเก่าในโรงเรียนตำบลท่าขาม เปิดสอนทุกวันเสาร์ ประกอบด้วยหลักสูตรการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ไอซีทีสูงวัย ความรู้จากสิทธิทางกฎหมายและสวัสดิการการดูแลตนเอง ส่งผลให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีความรู้และพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ และเกิดการทำงานเป็นเครือข่ายในพื้นที่ด้วย

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า พยาบาลถือเป็นบุคลากรสาธารณสุขที่มีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มวิชาชีพสุขภาพ โดยในเดือนเม.ย.ปี 2559 มีจำนวนพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนเป็นพยาบาลวิชาชีพถึง 188,627 คน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นปีละ 10,000 คน และถือเป็นกลุ่มที่อยู่กับผู้ป่วยมากที่สุด หากพยาบาลให้น้ำหนักการทำงานที่การสร้างเสริมสุขภาพจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของระบบสุขภาพ ซึ่งทิศทางของโลกและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขก็ให้น้ำหนักที่การป้องกัน สสส.จึงทำงานร่วมกับสภาการพยาบาล และคณะพยาบาลศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อศึกษาชุดความรู้สำหรับบทบาทพยาบาลในการสร้างเสริมสุขภาพ ให้เป็นการชี้นำการพัฒนาหลักสูตรและระบบการเรียนรู้สำหรับสร้างพยาบาลนักส่งเสริมสุขภาพ ให้เป็นกลไกที่สำคัญของการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพต่อไป