ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ไทยโพสต์ : เผยข้อมูลผู้ประกันตนมาตรา 39 หลุดออกจากระบบประกันสังคมปีละหลายหมื่นคน เหตุขาดส่งเงินสมทบ 90 วัน สภาลูกจ้างระบุส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจ แต่ละปีมีอุทธรณ์เข้ามา แต่มักจะแพ้ เพราะ สปส.ยืนยันทำตามกฎหมาย แนะ สปส.นิรโทษกรรมเพื่อให้ผู้ประกันมาตรา 39 ได้กลับคืนสู่ระบบประกันสังคม ชี้ สปส.ไม่ควรมองในเรื่องของกำไรหรือขาดทุน แต่เป็นการช่วยเหลือทางสังคมที่เป็นบทบาทสำคัญของ สปส.

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 นายทวี เตชะธีรวัฒน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้าง สมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย และกรรมการอุทธรณ์ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ทุกวันนี้คณะกรรมการอุทธรณ์ฯ ได้รับเรื่องเกี่ยวกับการหลุดออกจากระบบประกันสังคมของผู้ประกันตนจำนวนมาก เดือนละหลายร้อยคน และปีละหลายหมื่นคน โดยเฉพาะผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ประกันตนโดยสมัครใจ) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากขาดส่งเงินสมทบ 90 วัน โดยมีจำนวนมากที่ไม่ได้ตั้งใจ เช่น ขาดส่งเงินสมทบแบบฟันหลอคือ บางเดือนจ่าย บางเดือนก็ลืมจ่าย แต่เมื่อรวมระยะเวลาที่ไม่ได้จ่ายครบ 90 วันก็จะหลุดออกจากระบบประกันสังคมทันที โดย สปส.อ้างว่าเป็นไปตามกฎหมาย

"ทาง สปส.ไม่เตือนด้วย เพราะเขาคิดว่าเป็นหน้าที่ของผู้ประกันตน และ สปส.บอกว่าได้เขียนไว้ชัดเจนเมื่อตอนกรอกเอกสารสมัครแล้ว และเมื่อผู้ที่ขาดส่งยื่นเรื่องอุทธรณ์เข้ามาก็มักจะแพ้ เพราะ สปส.อ้างว่าทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แม้ฝ่ายลูกจ้างพยายามขออะลุ่มอล่วย แต่ก็ไม่เป็นผล ขณะเดียวกันผู้บริหาร สปส.บางคนเขามองว่า การประกันตนตามมาตรา 39 นั้นทำให้ สปส.ขาดทุน เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยบ่อย ผิดกับมาตรา 33 ที่มักเป็นคนวัยหนุ่มสาว" นายทวีกล่าว

นายทวี กล่าวว่า ในวันแรงงานแห่งชาติครั้งที่ผ่านมาจึงได้มีข้อเสนอจากฝ่ายลูกจ้างให้นิรโทษกรรมเพื่อให้ลูกจ้างตามมาตรา 39 ได้กลับคืนสู่ระบบประกันสังคม โดย สปส.ไม่ควรมองในเรื่องของกำไรหรือขาดทุน แต่เป็นการช่วยเหลือทางสังคมที่เป็นบทบาทสำคัญของ สปส.

นายอาทิตย์ อิสโม ประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ กล่าวว่า ในข้อกฎหมายระบุไว้ชัดให้ผู้ประกันตนที่ขาดส่ง 3 เดือนต้องหลุดจากประกันสังคม ยกเว้นมีเหตุอันสมควรถึงผ่อนปรนให้ อย่างไรก็ตาม การยื่นอุทธรณ์ส่วนใหญ่ไม่มีเหตุอันควร เช่น ให้เหตุผลว่าไม่มีเงิน ทำให้คณะกรรมการอุทธรณ์ฯ ยืนตามคำสั่งของ สปส. ทั้งนี้ ตนคิดว่าควรที่จะมีการผ่อนปรนระเบียบให้มากกว่านี้หาก สปส.คิดที่จะรักษาลูกค้าไว้ให้ได้เยอะๆ เพราะผู้ประกันตนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้จงใจทำผิดเงื่อนไข

"เราไม่ควรตีความเป็นเส้นตรง หรือเอาความผิดเล็กๆ น้อยๆ ของผู้ประกันตนมาตัดสิน เช่น เขานอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่มีรายได้หรือไม่มีแรงจะไปจ่ายเงินสมทบจนขาดส่ง ก็ควรหาทางช่วยเหลือเขา เรื่องนี้ควรที่จะร่วมกันพิจารณาแก้ไขระเบียบ เพื่อประโยชน์จะได้ตกอยู่กับผู้ประกันตน" นายอาทิตย์กล่าว

น.ส.อรุณี ศรีโต หนึ่งในคณะกรรมการประกันสังคม หรือ "บอร์ด สปส." เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ประกันตนโดยสมัครใจ) นับหมื่นคนที่ต้องถูกตัดสิทธิ์หลุดออกจากระบบประกันสังคม เนื่องจากความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ และไม่ได้มีเจตนาจะเบี้ยวจ่ายประกันสังคม เช่น ขาดส่งเงินสมทบเพราะลืม บางเดือนคิดว่าจ่ายไปแล้ว ซึ่งเมื่อไม่จ่ายครบ 90 วันจะถูกตัดสิทธิ์ออกจากประกันสังคมทันที แม้จะยื่นอุทธรณ์ แต่ก็มักจะแพ้ เพราะ สปส.อ้างว่ากฎหมายเขียนไว้ชัดเจน

น.ส.อรุณีกล่าวว่า จริงๆ แล้ว สปส.ควรอะลุ่มอล่วยหรือผ่อนปรนให้มากกว่านี้ เพราะผู้ประกันตนเหล่านี้ครั้งหนึ่งก็คือผู้ประกันตนในมาตรา 33 ซึ่งจ่ายเงินสมทบด้วยดีเสมอมา แต่เมื่ออายุมากและต้องออกจากงานก็ยังอยากมีหลักประกัน จึงจ่ายเงินต่อตามมาตรา 39 ดังนั้นเมื่อเกิดข้อติดขัดก็น่าจะร่วมกันหาทางออก ไม่ใช่ตัดสิทธิ์กันอย่างเดียว โดยก่อนหน้านี้เคยมีการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ขาดส่งกลับเข้ามาใหม่ได้ แต่ตนไม่อยากให้ใช้คำว่านิรโทษกรรม เพราะผู้ประกันตนไม่ใช่นักโทษ แต่ควรมีการยืดหยุ่น ให้อภัยกัน

"อีกประเด็นหนึ่งที่ดิฉันอยากให้มีการแก้ไขมากคือ ทุกวันนี้ผู้ที่รับบำนาญไปแล้ว สิทธิ์ต่างๆ จะถูกตัดหมดเลย โดยเฉพาะเรื่องรักษาพยาบาล เราอยากให้คงสิทธิ์นี้ไว้ให้หน่อย ทุกวันนี้คนที่อายุ 60-70 ปีถึงยังต้องหาเงินส่งประกันสังคม เพราะไม่อยากถูกตัดสิทธิ์เรื่องรักษาพยาบาล" น.ส.อรุณีกล่าว

อนึ่ง จากสถิติของสำนักงานประกันสังคมพบว่า ในปี 2557 มีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือน และต้องหลุดออกจากระบบประกันสังคม จำนวน 96,707 คน และในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 107,371 คน.

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 26 เมษายน 2559

เรื่องที่เกี่ยวข้อง