ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรม ผอ.รพ.สต.แจงไม่ใช่แค่ รพศ./รพท.เท่านั้นที่ค้างจ่ายเงินค่าตอบแทน รพ.สต.ก็มีปัญหาถูก รพ.ทุกระดับค้างจ่ายงบค่าตอบแทนและงบอื่นๆ ให้ รพ.สต.ด้วย สุดท้ายงบส่วนนี้ก็ถูกรวมไปเป็นเงินบำรุง รพ. ชี้ งบค่าตอบแทน รพ.สต.ได้รับจัดสรรจาก รพ.ใหญ่ไม่ครบ 12 เดือน เฉลี่ย 5-6 เดือนเท่านั้น แถมการคิดค่าตอบแทนของสหวิชาชีพที่เป็นแรงงานฐานล่างก็ไม่เป็นธรรม มีการคูณแต้มต่อชิ้นงานน้อยมาก

นายริซกี สาร๊ะ ผู้ประสานงานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ผอ.รพ.สต.) และเลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) กล่าวถึงกรณีโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.)/โรงพยาบาล (รพท.) ค้างจ่ายเงินค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี (P4P) จำนวน 89 แห่ง โดยมีบางแห่งค้างจ่ายกว่า 2 ปี ซึ่ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มอบให้ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ.เร่งรวบรวมข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา ว่า อยากขอร้องผู้บริหาร สธ.มองเรื่องนี้ในภาพรวม เนื่องจากประเด็นค้างจ่าย ไม่ใช่แค่ รพศ./รพท.เท่านั้นที่ยังไม่ได้มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนพีฟอร์พี รพ.สต.ก็ได้รับผลกระทบจากการที่ รพ.ทุกระดับค้างจ่ายเงินให้ รพ.สต.ด้วยเช่นกัน โดยมีปัญหาดังนี้

1.โรงพยาบาลเกือบทุกระดับยังค้างจ่ายเงินแก่ รพ.สต.โดยการจัดสรรงบค่าตอบแทนและงบอื่นๆ ลงมาไม่ครบ

2.ปัญหาการจัดเก็บข้อมูลของพีฟอร์พี ที่เครือข่ายสหวิชาชีพได้แจ้งมาทางชมรมว่ากลุ่มที่ถูกนับเป็นแรงงานฐานล่างได้รับการคูณแต้มต่อชิ้นงานน้อยมาก ทำงานเยอะแต่ได้น้อยมากเมื่อเทียบกับบางวิชาชีพ

3.มีข้อมูลแจ้งว่าหน่วยงานหลายที่ไม่ได้ทำระบบพีฟอร์พีอย่างแท้จริง (Psuedo P4P) แต่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลอย่างง่ายมาเกลี่ยและจัดสรรให้แต่ละวิชาชีพแทน

นายริซกี กล่าวต่อว่า การค้างจ่ายเงินแก่ รพ.สต.นั้น มาจากการจัดสรรเงินในรูปแบบเดิม คือการจัดสรรเงินโดยคณะกรรมการเครือข่าย กล่าวคือ แม้คณะกรรมการจะมีตัวแทนจากรพ รพ.สต.และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) แต่การจัดสรรงบประมาณทั้งหมดมักจะรับรู้รายละเอียดเฉพาะคณะทำงานแค่ในโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งตามระเบียบการจัดสรงบต่างๆ รวมทั้งค่าตอบแทนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้น ให้กระจายงบเหมาจ่ายรายหัวตามประชากร แต่จัดสรรรวมให้ระดับเขต แล้วให้เขตพิจารณาจัดสรรใหม่ ตามแนวทางและเหตุผลของเขต แต่ก็ควรคำนึงถึง รพ.สต.ที่มีประชากรน้อย กันดาร เสี่ยงภัยเป็นหลักตามประกาศ สปสช.ด้วย

เช่น งบค่าตอบแทน หลักเกณฑ์กำหนดควรจัดสรรลง รพ.สต.ต่อปีอย่างน้อย 85 -100 % ของงบที่ควรได้รับ นอกนั้นเป็นภาระเงินบำรุง ส่วนงบอื่นๆ เช่น งบ hard ship ที่จัดสรรให้ทั้งเครือข่าย ส่วนใหญ่ รพ.สต.ก็ได้รับไม่เต็มจำนวน หรือไม่ได้รับ เพราะไม่เคยรับรู้ว่ามีงบนี้อยู่ ปัญหาคือ ที่ผ่านมา รพ.สต.ไม่ได้รับเต็มจำนวนที่กำหนด รพ.ส่วนใหญ่ยังค้างจ่ายงบบางส่วน สุดท้ายงบส่วนนี้ก็ถูกรวมไปเป็นเงินบำรุง รพ.

“อย่างงบค่าตอบแทนมี รพ.สต.บางส่วนเท่านั้นที่ CUP จัดสรรลง รพ.สต. 100 % เช่นใน จ.สงขลา พิษณุโลก สุพรรณบุรี สระบุรี แต่ รพ.สต.ส่วนใหญ่ประสบปัญหาได้รับเงินจัดสรรไม่ครบตามกรอบ น้อยที่สุดได้รับการจัดสรรค่าตอบแทนเพียง 3 เดือน โดยเฉลี่ยได้รับ 5-6 เดือน นอกนั้นเงินไม่พอก็ต้องใช้เงินบำรุงมาบริหารจัดการ โดยเฉพาะการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรในพื้นที่กันดาร เมื่อได้รับงบไม่ครบ 12 เดือน ที่เหลือต้องใช้เงินบำรุง ทำให้เป็นภาระมาก ซึ่งแต่ละแห่งก็มีเงินบำรุงไม่เท่ากันเฉลี่ยปีละ 1.5-3 แสนบาท ขณะที่ส่วนใหญ่มีรายรับจากงบบัตรทองเท่านั้น ไม่มีรายได้จากหมวดอื่นเหมือนรพ.”

นายริซกี กล่าวว่า ทั้งนี้ในส่วนที่ตนเป็นผู้ประสานงานเรื่องค่าตอบแทนของสหวิชาชีพ ปัญหาการคิดอัตราแต้มต่อชิ้นงานของ P4P หรือการทำ P4P เทียม อยากให้มีการปรับปรุงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพด้วย เพราะขณะนี้สหวิชาชีพฐานล่างใน รพ.ที่ทำข้อมูล P4P อยู่หลายแห่งกำลังรวบรวมประเด็นนี้เพื่อยื่นข้อเสนอต่อไป ในส่วนของ รพ.สต.จึงอยากวอนขอผู้บริหาร สธ.และ สปสช.ช่วยในเรื่องนี้ ขอให้โอนเงินค่าตอบแทน งบส่งเสริมสุขภาพ (PP) งบ fix cost และงบที่เกี่ยวข้องลงตรงมาที่ รพ.สต.ตามสัดส่วนที่ควรจะเป็น ตามแนวทางที่เคยยื่นปฏิรูป รพ.สต.เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 59 และที่เคยเสนอปลัดกระทรวงในเวทีปฏิรูปเมื่อวันที่ 15-17 มี.ค.59 ที่ อ.บ้านนา จ.นครนายก ที่ชาว รพ.สต.เรียกว่าบ้านนาโมเดล” นายริซกี กล่าว