ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยร่าง พ.ร.บ.สถานพยาบาลฉบับใหม่ จะเข้า สนช. 16 มิ.ย.นี้  ระบุกฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการจากสถานพยาบาลภาครัฐทุกสังกัด และเอกชน ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน มีบริการป่วยฉุกเฉิน โรคติดต่ออันตราย เข้มโฆษณาทั้งภาพ เสียง ข้อความ เพิ่มบทลงโทษหนักขึ้น เช่น เปิดสถานพยาบาลเถื่อน จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ             

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สบส.ได้จัดทำ "ร่างพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่...) พ.ศ. ...."  ขึ้นใหม่โดยปรับปรุงจากกฎหมายฉบับเดิมคือ “พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541”   ซึ่งใช้มานาน18 ปี ให้มีความทันสมัยขึ้น เพิ่มกลไกความเข้มแข็งในการคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกันทั้งสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 และจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาวาระที่ 1 ในวันที่ 16 มิถุนายน 2559 เพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป  

นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ร่างกฎหมายสถานพยาบาลฉบับใหม่นี้ จะมีผลใช้บังคับสถานพยาบาลที่มีทั่วประเทศทั้งหมด 36,433 แห่ง ซึ่งมี 2 ประเภท ได้แก่ประเภทมีเตียงนอน คือโรงพยาบาลภาครัฐทุกสังกัด โรงเรียนแพทย์ มูลนิธิ องค์กรอิสระ องค์กรมหาชน องค์การบริการส่วนท้องถิ่นรวม 13,036 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 343 แห่ง และประเภทคลินิกต่างๆ 23,054 แห่ง ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกันตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนด เช่น มาตรฐานเจซีไอ (JCI) หรือ เอชเอ (HA) ลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพบริการ โดยสถานพยาบาลเอกชนจะต้องยื่นขออนุญาตเปิดดำเนินการเช่นเดิม ส่วนภาครัฐได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต   

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า สาระที่ปรับเพิ่มเติม ได้แก่ การเพิ่มผู้แทนสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) เป็นคณะกรรมการสถานพยาบาล โดยเพิ่มบทบาทให้คณะกรรมสถานพยาบาลกำหนดลักษณะและมาตรฐาน หรือการรับรองมาตรฐานสถานพยาบาล กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน โรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังหรือโรคระบาดตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อหรือสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาล และร่างกฎหมายฉบับนี้ยังส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล โดยสามารถจัดการศึกษา ฝึกอบรม การวิจัย หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีการประกอบโรคศิลปะแก่หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรเอกชนได้ 

“กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล ต้องแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆและสิทธิของผู้ป่วย ไว้อย่างชัดเจน จะเรียกเก็บเกินอัตราที่แสดงไว้ไม่ได้ ต้องให้บริการผู้ป่วยตามสิทธิที่ได้แสดงไว้ และต้องเยียวยาผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งอยู่ในสภาพอันตราย จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลให้พ้นจากอันตรายก่อนส่งต่อไปสถานพยาบาลอื่น” นพ.ธงชัย กล่าว   

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีเปิดสถานพยาบาลเถื่อนโดยไม่ได้ขออนุญาต มีความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเดิมปรับไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท การโฆษณาสถานพยาบาลจะต้องได้รับอนุญาตทั้งข้อความ ภาพ และเสียง หากฝ่าฝืนหรือพบว่าเข้าทำนองอวดอ้างสรรพคุณ มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท นับตั้งแต่วันฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้ระงับการโฆษณาหรือประกาศ พร้อมให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ โดยในส่วนกลางมีอธิบดี สบส.เป็นประธาน ส่วนภูมิภาคมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน