ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทีดีอาร์ไอ เสนอ สธ.ปรับบทบาทเหมือน “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ทำหน้าที่เฉพาะผู้กำหนดนโยบาย สอดคล้องสถานการณ์เปลี่ยนแปลง หลังต้องทำ 2 หน้าที่ขัดแย้ง ทั้งเป็นเจ้าของ รพ. 800 แห่งที่ต้องบริหารไม่ขาดทุน ส่งผลต่อบทบาทควบคุมและกำกับไม่เป็นกลาง พร้อมแนะ รพ.ออกนอกระบบเหมือน รพ.บ้านแพ้ว หรือส่งต่อ รพ.ให้กับท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นบริหารแทน  

นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์

นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงข้อเสนอการปรับบทบาทกระทรวงสาธารณาสุข (สธ.) ในเวทีสัมมนาวิชาการประจำปี 2559 ภายใต้หัวข้อ “ปรับบทบาทรัฐไทย ให้ประชาชนได้บริการที่ดี” จัดโดยทีดีอาร์ไอ ว่า เป็นข้อเสนอเพื่อให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้า และมองว่า สธ.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องมีการปรับบทบาทเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง โดยบทบาท สธ.ปัจจุบันยังคาบเกี่ยวกับการเป็น “ผู้ให้บริการ” ทำให้ สธ.ขาดความเป็นกลาง ทั้งที่โดยหลักการแล้วบทบาทแท้จริงแล้ว จะต้องทำหน้าที่เป็นฝ่ายนโยบายที่คอยกำกับและควบคุมคุณภาพมาตรฐาน ทั้งการจัดซื้อบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ และการให้บริการของหน่วยบริการ แต่ด้วยขณะนี้ สธ.ยังคงความเป็นเจ้าของโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศ มีจำนวนถึงกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ ส่งผลให้การทำหน้าที่ควบคุมจึงคลุมเครือ เพราะมีบทบาทหน้าที่ทั้งผู้ควบคุมตรวจสอบและให้บริการในขณะเดียวกัน

“ในฐานะผู้กำกับนโยบายและตรวจสอบ ไม่ควรทำหน้าที่ผู้ให้บริการ เพราะสองบทบาทขัดแย้งกัน ทำให้การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานเกิดความไม่เป็นกลางได้ รวมถึงการนำกฎระเบียบต่างๆ ไปใช้อย่างเหมาะสม เนื่องจากต้องทำหน้าที่เจ้าของโรงพยาบาลที่ต้องปกป้องให้หน่วยบริการในสังกัดดำเนินกิจการได้ จึงควรดำเนินบทบาทเช่นเดียวกับ ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทำหน้าที่ควบคุมธนาคารพาณิชน์ยทั้งหมด โดยไม่ได้เป็นเจ้าของธนาคารพาณิชย์ ทำให้บทบาทการควบคุมและกำกับดำเนินไปอย่างเหมาะสม”  

นางวรวรรณ กล่าวว่า ที่เกี่ยวข้องกับ สธ.อีกบทบาท คือหลังมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมี สปสช.ทำหน้าที่ผู้ซื้อบริการสุขภาพและ สธ.ทำหน้าที่ผู้ให้บริการสุขภาพ ด้วยความเป็นเจ้าของโรงพยาบาล 800 แห่ง ทำให้ สธ.ต้องทำหน้าที่ต่อรองการจัดบริการ งบประมาณ และกลุ่มเป้าหมายประชากรกับ สปสช. ตรงนี้ผิดบทบาทของ สธ.เช่นกัน เพราะตามหลักการแล้ว สธ.จะต้องมีบทบาทที่อยู่เหนือทั้งผู้ซื้อบริการสุขภาพและผู้ให้บริการสุขภาพ เพื่อให้เกิดการต่อรองที่เป็นธรรม แต่เมื่อ สธ.ลดบทบาทมาเป็นผู้ซื้อเองจึงทำให้การทำบทบาทด้านการควบคุมและกำกับไม่สามารถดำเนินไปอย่างเต็มที่ได้ ตัวอย่างเช่นกรณีการซื้อแพคเก็จบริการสุขภาพของ สปสช.ไม่เป็นธรรมกับ สธ. ซึ่งตามบทบาทหน้าที่กำกับควบคุม สธ.จะต้องดูว่า แพคเก็จที่เป็นธรรมควรเป็นอย่างไร แต่เมื่อ สธ.พ่วงด้วยความเป็นเจ้าของโรงพยาบาลด้วย ทำให้ไม่สามารถพูดในเรื่องนี้ได้ เพราะเท่ากับเป็นการต่อรองให้กับตนเอง ดังนั้น สธ.จึงต้องมีบทบาทเช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนรูปแบบของโรงพยาบาลสังกัด สธ.หลังจาก สธ.ปรับบทบาทจะเป็นอย่างไรนั้น นางวรวรรณ กล่าวว่า มีหลายรูปแบบ ซึ่งต้องบอกว่าปัจจุบันโรงพยาบาลในประเทศไม่ได้เป็นของ สธ.ทั้งหมด มีทั้งในส่วนของกรมการแพทย์ กทม. กระทรวงหลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ และท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการออกนอกระบบโดยแยกเป็นอิสระแต่ยังคงอยู่ภายใต้กำกับของรัฐ อย่าง โรงพยาบาลบ้านแพ้วที่บริหารโดยชุมชนเข้ามีส่วนร่วม และผลดำเนินการไม่ขาดทุน ต่างจากโรงพยาบาลบางแห่งของ สธ.ที่ขาดทุน แต่น่าเสียดายที่ สธ.ไม่เดินหน้าต่อ

ทั้งนี้ในอดีตประเทศไทยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานยังขาดแคลนและไม่ทั่วถึง สธ.จึงต้องมีบทบาทในการขยายโรงพยาบาลเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเข้าถึงบริการได้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันนี้ต่างจากในอดีต และระบบสุขภาพต้องการความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยในแง่บริหารจัดการหากยังปล่อยให้โรงพยาบาลที่ไม่มีผู้ป่วยรับบริการคงอยู่ จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการงบประมาณ เนื่องจาก สธ.ยังต้องอุ้มโรงพยาบาลเหล่านี้ไว้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีโรงพยาบาลป่าตองซึ่งได้เตรียมความพร้อมออกนอกระบบได้ แต่ปรากฎว่าได้ถูกยุติไป รวมถึงโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปหลายแห่งมีความพร้อมออกจากระบบได้ แต่ที่ผ่านมา สธ.กลับไม่ดำเนินการในเรื่องนี้

ต่อข้อซักถามว่า ความเป็นไปได้ในข้อเสนอการปรับบทบาทกระทรวงสาธารณสุข นางวรวรรณ กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องถามฝ่ายการเมือง เพราะทั้งหลายขึ้นอยู่กับการเมืองอย่างเดียว แต่ถ้ามองในมุมของเศรษฐศาสตร์ ไม่มีเหตุผลต่อที่ สธ.จะยังถือโรงพยาบาล โดยยังคงบทบาทความเป็นเจ้าของโรงพยาบาลไว้

นางวรวรรณ กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของ สธ.ตามข้อเสนอนี้ ไม่แต่เฉพาะควบคุมในส่วนของระบบหลักประกันสุขภาพเท่านั้น แต่ยังดูแลระบบหลักประกันสุขภาพทั้งหมดในประเทศ ทั้งระบบประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ กองทุนรักษาพยาบาลของท้องถิ่น เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ที่เป็นธรรมกับประชาชน ขณะเดียวกันก็ดูในส่วนหน่วยบริการ ดูว่างบประมาณของกองทุนที่ให้มาเป็นธรรมต่อหน่วยบริการหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ สธ.ทำหน้าที่เหล่านี้ได้อย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ แต่หาก สธ.ยังคงบทบาทเช่นเดิม นอกจากทำให้ระบบสุขภาพขับเคลื่อนไปข้างหน้าไม่ได้แล้ว ยังส่งผลต่อภาระงบประมาณของประเทศด้วย