ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ห่วงประชาชน เสี่ยงติดเชื้อโรคฉี่หนู 5 เดือนพบผู้ป่วยกว่า 600 ราย เสียชีวิต 14 ราย ยึดหลัก 3 ลด คือ ลดปริมาณหนู ลดการสัมผัสเชื้อโรค เตือนผู้ที่นิยมดื่มเครื่องดื่มกระป๋อง แล้วเทน้ำใส่ปากโดยตรง ควรล้างฝาให้สะอาดก่อนดึงฝาเปิด และลดการเสียชีวิต หากมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะที่น่อง โคนขาทั้ง 2 ข้าง ขอให้รีบพบแพทย์หลังมีอาการป่วยไม่เกิน 3 วัน เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง    

นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ

นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าในช่วงฤดูฝนนี้มีความเป็นห่วงประชาชนป่วยเป็นโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) ซึ่งปัจจุบันพบได้ทั้งในเขตเมืองและชนบท โดยในฤดูฝนประชาชนจะมีความเสี่ยงป่วยจากโรคนี้ง่ายเนื่องจากทั้งหนูบ้าน หนูนา หนูป่า หนูท่อ ที่เป็นตัวพาหะสำคัญของโรคนี้ จะหนีน้ำเข้ามาอาศัยอยู่ตามอาคารบ้านเรือนรวมทั้งสำนักงานต่างๆ เชื้อโรคจะอยู่ในฉี่ของหนูที่ติดเชื้อได้เป็นเวลานานหลายเดือน และแพร่เชื้อโรคมาสู่คน เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายคนเราได้ 2 ทางคือ ทางปาก จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อฉี่หนูเข้าไปและไชเข้าทางแผลเยื่อบุในปากหรือตาหรือรอยถลอกผิวหนัง รวมทั้งผิวหนังปกติที่แช่น้ำที่มีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนเป็นเวลานานเชื้อก็สามารถไชผ่านเข้าไปได้ โดยไม่รู้สึกคันหรือเจ็บปวดแต่อย่างใด และไม่มีรอยแผลปรากฏให้เห็น

สถานการณ์ของโรคฉี่หนูในปี 2559 นี้ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานในรอบ 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 2 มิถุนายน 2559 พบผู้ป่วยใน 49 จังหวัด รวม 644 ราย ในจำนวนนี้พบพม่าป่วย 7 ราย มีผู้เสียชีวิตรวม 14 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงานจังหวัดที่มีรายงานป่วยสะสมมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ศรีสะเกษ 91 ราย นครศรีธรรมราช 77 ราย สุรินทร์ 44 ราย

นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคฉี่หนู สบส.ได้ให้ อสม.ทั่วประเทศและกลุ่ม อสม.ต่างด้าว เผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนยึดหลัก 3 ลด คือ

1.ลดจำนวนหนู โดยดูแลความสะอาดบ้านเรือน อาคารสำนักงาน โต๊ะทำงาน โต๊ะอาหารไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของหนู กำจัดเศษอาหารให้ถูกวิธี เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งดำรงชีวิตของหนูถังที่ใช้ใส่ขยะเปียกจะต้องมีฝาปิดมิดชิดป้องกันไม่ให้หนูเข้าไปกินได้ หากพบว่ามีหนู ควรใช้อุปกรณ์ดักหนูและกำจัดทิ้ง การใช้วิธีไล่หนูหนีจากบ้านเรือน สำนักงาน ไม่ใช้วิธีที่ได้ผล และจะทำให้หนูแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ โดยหนู 1 คู่ สามารถออกลูกหลานได้ปีละกว่า 1,000 ตัว

2.ลดการสัมผัสเชื้อ โดยหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า หากมีความจำเป็น ขอให้ใส่รองเท้าอาจเป็นบูทยางหรือมีพื้นหนา เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลจากของมีคม โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลหรือมีแค่รอยขีดข่วนตามผิวหนัง ต้องระมัดระวังอย่าให้แผลถูกน้ำ หลังจากขึ้นจากน้ำให้อาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด 

“กลุ่มที่น่าห่วง คือผู้นิยมดื่มเครื่องดื่มกระป๋องที่เปิดฝาแล้วเทน้ำใส่ปากโดยตรง จะมีความเสี่ยงได้รับเชื้อโรคฉี่หนู เนื่องจากลักษณะของการเก็บเครื่องดื่มโดยทั่วไป จะวางกระป๋องในแนวตั้ง ฝาเปิดจะอยู่ด้านบนอยู่แล้วหากเก็บไม่มิดชิด อาจมีหนูไปฉี่รดบนฝากระป๋องไว้ ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ล้างฝากระป๋องให้สะอาดก่อนเปิดทุกครั้ง” นพ.ภานุวัฒน์ กล่าว

สำหรับลดที่ 3 คือการลดการเสียชีวิตหลังติดเชื้อประมาณ 10 วัน จะมีอาการป่วย โดยโรคฉี่หนูจะมีลักษณะเฉพาะต่างจากโรคอื่นๆ ได้แก่ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตา ปวดตามกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะที่น่อง โคนขาทั้ง 2 ข้าง หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์หลังมีอาการป่วยไม่เกิน 3 วัน อย่าซื้อยากินเอง และแจ้งประวัติการลุยน้ำ ย่ำโคลนหรือการพบเห็นหนูในบ้านหรือสำนักงานให้แพทย์ทราบเพื่อให้การรักษาได้อย่างถูกต้องขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมียารักษาให้หายขาดได้