ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดระบบดูแลมาตรฐานของเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาลทั้งรัฐเอกชน โดยร่วมเป็นคณะกรรมการวิชาการมาตรฐาน การผลิตเครื่องมือแพทย์ ต้องผ่านมาตรฐานไอเอสโอ 10485 ติดตามความก้าวหน้าเทคโนโลยีการแพทย์ และร่วมกับ สมศ. สร้างหลักสูตรอิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ ผลิตบุคลากรสายอาชีพด้านการซ่อมบำรุงเครื่องแพทย์เป็นการเฉพาะครั้งแรกในประเทศ คาดจะเปิดรับรุ่นแรกปีหน้า นำร่องวิทยาลัยเทคนิคจังหวัดเชียงใหม่       

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ สบส.ได้เร่งพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพ ให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ หมอดี ยาดี บริการดี สถานที่ดี เรื่องที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือคุณภาพมาตรฐานของเครื่องมือแพทย์ในการตรวจวินิจฉัย เฝ้าระวัง รักษา เช่น เครื่องมือตรวจทางห้องปฏิบัติการ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องเอ็กซเรย์ เป็นต้น ซึ่งอยู่ในความดูแลของ สบส. ต้องเที่ยงตรง แม่นยำ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนนับหมื่นชิ้น แนวโน้มเครื่องมือเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก สบส.จึงได้วางระบบความพร้อมการดูแลมาตรฐานเครื่องมือเหล่านี้ 3 ด้าน เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการทุกคน

1. สบส.ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมการแพทย์ กับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งมีบทบาทการผลิตบุคลากรสายอาชีพป้อนสู่ตลาดแรงงาน เพื่อผลิตบุคลากรสาขาวิชาชีพ วิศวกรรมเครื่องมือแพทย์ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)โดยเฉพาะ ขณะนี้ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์จัดทำร่างหลักสูตรสาขาอิเล็คทรอนิกส์ทางการแพทย์ (Medical Electronics) เป็นวิชาเลือกเสรีของสาขาอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม ที่มีสอนอยู่แล้วในวิทยาลัยเทคนิค ผู้ที่เลือกเรียนจะต้องเรียนภาคทฤษฎีในเรื่องของเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในระบบบริการตั้งแต่ระดับพื้นฐานทั่วไปและเครื่องมือที่ใช้ตรวจวินิจฉัยจนถึงเครื่องมือช่วยชีวิต

โดย สบส.ได้จัดผู้เชี่ยวชาญร่วมดำเนินการฝึกภาคสนามแก่นักเรียนด้วย เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะในการซ่อมและบำรุงรักษา ทดสอบและเทียบค่ามาตรฐานเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาลทั้งรัฐหรือเอกชน จะทำประชาพิจารณ์ร่างหลักสูตรภายในเดือนนี้ จากนั้นจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอาชีวศึกษา เพื่อเห็นชอบและอนุมัติ  คาดว่าจะเปิดสอนจริงได้ในปีการศึกษา 2560 โดยมอบหมายให้กองวิศวกรรมการแพทย์เป็นแกนประสานหลัก   

2.ร่วมเป็นคณะกรรมการวิชาการมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ ทำให้ สบส.สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของการผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศในอนาคต ซึ่งเน้นการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพสูง และต้องผ่านมาตรฐานไอเอสโอ 10485 (ISO 10485) ทุกรายการ ประการสุดท้าย สบส.ได้ส่งบุคลากรไปศึกษาดูงาน เพื่อติดตามความก้าวหน้าด้านอุปกรณ์การแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าและทันสมัยมาก 

นายสุรพันธ์ ชัยล้อรัตน์ ผู้อำนวยการกองวิศวกรรมการแพทย์ กล่าวว่า ในการผลิตนักเรียนอาชีวศึกษาด้านเครื่องมือแพทย์ ได้ร่วมกับ สอศ.พิจารณาคัดเลือกวิทยาลัยเทคนิคที่มีความพร้อมแล้วจะเปิดสอนแห่งแรกคือ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ซึ่งเปิดสอนสาขาอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมอยู่แล้ว ได้ประชุมวางแผนร่วมกันแล้ว โดยจะใช้สถานที่ฝึกภาคปฏิบัติที่สำนักงานสนับสนุนบริการเขตสุขภาพที่เชียงใหม่ จากนั้นจากประเมินโครงการและขยายผลอีก 7 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ราชบุรี นนทบุรี ชลบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี และสงขลา หลักสูตรที่สอนเป็นหลักสูตรเลือกเสรี จะต้องเรียนทั้งเรื่องร่างกายมนุษย์ ระบบกลไกการทำงานอัตโนมัติของร่างกาย เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์พื้นฐาน เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ด้านการตรวจวินิจฉัย การรักษา การเฝ้าระวัง การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย เครื่องมือช่วยชีวิต เครื่องมือสนับสนุนทางการแพทย์ และการบริหารจัดการด้านวิศวกรรมในโรงพยาบาล ผู้ที่จบหลักสูตรจะสามารถวางแผน จัดการและพัฒนางานอาชีพตามหลักการและกระบวนการโดยคำนึงถึงคุณภาพ การอนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม และยึดหลักความปลอดภัย บำรุง ซ่อมแซมอุปกรณ์ทางการแพทย์