ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ เผย โรคเนื้องอกในสมองเป็นโรคที่พบมากที่สุดหรือประมาณ 75 % ของเนื้องอกในระบบประสาททั้งหมด พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันสิ่งที่ทำได้คือการสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเองและคนรอบข้าง หากพบความผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื้องอกสมอง คือ เนื้องอกที่เกิดขึ้นภายในกะโหลกศีรษะและมีมากกว่า 100 ชนิด ซึ่งมีทั้งชนิดที่เป็นเนื้อร้ายและไม่เป็นเนื้อร้าย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดและเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเนื้องอกหลายอย่าง เช่น กรรมพันธุ์ การสัมผัสกับรังสีหรือสารเคมีบางชนิด รวมถึงการเป็นมะเร็งที่อวัยวะอื่นแล้วแพร่กระจายไปยังสมอง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด เป็นต้น

จากข้อมูลของสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคเนื้องอกสมองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีและเป็น 1 ใน 5 ลำดับโรคแรกของสถาบันฯ สำหรับอาการของเนื้องอกสมองทั้งเนื้องอกธรรมดาและเนื้อร้ายจะมีอาการแสดงโดยทั่วไปคล้ายกัน เช่น ปวดศีรษะมักเป็นอาการเริ่มต้นของการเกิดเนื้องอกสมองประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเนื้องอกในสมองมักมีอาการปวดศีรษะตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรงมากและแบบเป็นๆ หายๆ ส่วนใหญ่จะเกิดตอนเช้าหลังตื่นนอน เนื่องจากหลอดเลือดสมองถูกกดหรือถูกดึงรั้งจากเนื้องอก อาการคลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกไม่สบายในท้อง มักมีอาการตอนเช้าซึ่งไม่สัมพันธ์กับมื้ออาหาร

ระดับความรู้สึกตัวจะเปลี่ยนแปลงไป ในระยะเริ่มแรกอาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและเมื่อเนื้องอกโตขึ้นจะทำให้ระดับความรู้สึกตัวค่อยๆ เปลี่ยนไปจนทำให้มีอาการสับสน กระสับกระส่าย ซึมลง และไม่รู้สึกตัว ส่วนอาการชักพบได้ประมาณ 30% ของผู้ป่วยเนื้องอกสมอง

นอกจากนี้ยังมีอาการที่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของเนื้องอกนั้นๆ เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมองจะมีอาการตามัว เห็นภาพซ้อน และระดับฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายมีความผิดปกติ เนื้องอกบริเวณสมองน้อยจะมีอาการเดินเซ ใช้เวลาหยิบของที่อยู่ตรงหน้าหลายครั้งจึงจะหยิบถูก มีเสียงดังในหู วิงเวียน บ้านหมุน เนื้องอกบริเวณก้านสมองจะมีอาการอาเจียน กลืนลำบาก หน้าเป็นอัมพาตข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง มองตาขึ้นข้างบนไม่ได้ เนื้องอกบริเวณโพรงสมองจะมีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น ปัสสาวะปริมาณมาก ง่วงเหงาหาวนอน เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาในเวลาที่เหมาะสมจะทำให้มีความดันในกะโหลกศีรษะสูงสมองเคลื่อน ไม่รู้สึกตัว และถึงขั้นเสียชีวิตได้

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเสริมว่า โรคเนื้องอกสมองเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยและหากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลทันท่วงทีจะทำให้ผู้ป่วยทุพพลภาพหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ ปัจจุบันแนวทางการรักษามี 3 วิธีใหญ่ๆ คือ การผ่าตัด การฉายแสง และการให้ยาเคมีบำบัด ดังนั้น ควรหมั่นสำรวจความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เพราะอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าถึงโรคเนื้องอกในสมองซึ่งเมื่อพบความผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี