ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยเด็กปฐมวัยไทยมีวิกฤตทางด้านพัฒนาการ พบล่าช้าต่ำกว่ามาตรฐานถึง 30 % และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาการศึกษาของเด็กไทย จัดสัปดาห์รณรงค์คัดกรองพัฒนาเด็กปฐมวัย อายุ 9, 18, 30, 42 เดือนทั่วประเทศ  ระหว่างวันที่ 4-8 ก.ค. จำนวน 40,000 คนทั่วประเทศ ด้วยคู่มือ เฝ้าระวังส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยเด็กทั่วไป และเด็กกลุ่มเสี่ยง มีความไวต่อการค้นหาพัฒนาการล่าช้าได้ถึงร้อยละ 94   

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงศึกษาธิการ, รพ.พระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก กระทรวงกลาโหม, รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า และกรุงเทพมหานคร แถลงข่าว “สัปดาห์รณรงค์คัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย 4 ช่วงวัย อายุ 9 เดือน 18 เดือน 30 เดือน และ 42 เดือนทั่วไทย” ระหว่างวันที่ 4-8 กรกฎาคม 2559

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เด็กปฐมวัยไทยมีวิกฤตทางด้านพัฒนาการ โดยมีพัฒนาการล่าช้าต่ำกว่ามาตรฐานถึง 30 % และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการศึกษาของเด็กไทยที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ที่ประมาณ 10-15 % ของเด็กไทยชั้น ป.3 และ ป.6 “อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดไม่เป็น” ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการพัฒนาเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในการเปิดประเทศรับการเป็น AEC ข้อมูลการสำรวจพัฒนาการเด็กของกรมอนามัยเมื่อปี 2557 พบเด็กแรกเกิด – 2 ปี มีพัฒนาการไม่สมวัยร้อยละ 22   ส่วนเด็กอายุ 3– 5 ปีมีพัฒนาการไม่สมวัยสูงถึงร้อยละ 34 หรือ 1 ใน 3 จำเป็นต้องเร่งค้นหาเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ให้ได้รับการส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม ซึ่งพบว่าร้อยละ 90 จะกลับมาปกติ ส่วนอีกร้อยละ 10 อาจมีปัญหาอื่นๆ เช่น ออทิสติกหรือมีปัญหาด้านการเรียนรู้ ต้องรับการดูแลรักษา กระตุ้นพัฒนาการโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง

ปีงบประมาณ 2559 กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ระดมความร่วมมือของทุกหน่วยงาน จัดสัปดาห์รณรงค์คัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัยอายุ 9, 18, 30, 42 เดือนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 4-8 กรกฎาคม 2559 จำนวน 40,000 คน เพื่อค้นหาเด็กสงสัยพัฒนาการล่าช้า/ล่าช้า ให้ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยใช้คู่มือเฝ้าระวังส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย สำหรับเด็กทั่วไป และสำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย และทารกขาดออกซิเจนขณะคลอด ที่ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาการเด็กของประเทศไทย ได้จัดทำขึ้นเป็นคู่มือที่มีความไวต่อการค้นหาพัฒนาการล่าช้าได้ถึงร้อยละ 94 

โดยดำเนินการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 19,785 แห่ง สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน 1,576 แห่ง  โรงเรียนอนุบาล 27,400 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กและโรงเรียนอนุบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม 37 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง และสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน 12 แห่งของสำนักอนามัย กทม.โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลตำรวจ และสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ รพ.พระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก กระทรวงกลาโหม รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า และกรุงเทพมหานคร ดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาพัฒนาการเด็ก ดำเนินงานระหว่างปี 2558 - 2561 เพื่อค้นหาเด็กสงสัยพัฒนาการล่าช้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 รวมทั้งสร้างเด็กให้มีความพร้อมก้าวสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ ดำเนินการดังนี้ 

1.การเปลี่ยนแปลงแนวคิด และแนวปฏิบัติ ส่งเสริมศักยภาพของครอบครัว ชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กแบบมีส่วนร่วม โดยให้การดูแลเด็กให้พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก เป็นผู้เฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยตนเองด้วยความรัก และความเข้าใจ มีเจ้าหน้าที่คัดกรองพัฒนาการเฉพาะ 4 ช่วงอายุที่สำคัญ คือช่วงอายุ 9,18,30,42 เดือน

2. พัฒนาและใช้เครื่องมือชุดเดียวกัน ตลอดช่วงปฐมวัย ซึ่งถือเป็นการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ที่ค้นหาเด็กสงสัยพัฒนาการล่าช้าได้อย่างรวดเร็ว  และช่วยกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยได้ทันท่วงที เชื่อมโยงทั้งด้านส่งเสริม ป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟูที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ  

3.เน้นการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ค้นหาเด็กแรกเกิด – 5 ปี ที่มีพัฒนาการสงสัยล่าช้า/ล่าช้าให้ได้รับบริการช่วยเหลือและส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมอย่างมีคุณภาพโดยเร็ว ทั้งด้าน IQ และ EQ

ผลที่คาดว่าจะได้รับที่สำคัญ คือ พ่อแม่ผู้ดูแลเด็กกว่าล้านครอบครัว ได้รับความรู้และคำแนะนำในการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กในแต่ละช่วงวัย เด็กที่สงสัยพัฒนาการล่าช้าได้รับการกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการจนเด็กมีพัฒนาการกลับมาสมวัยร้อยละ 88  โดยพ่อแม่ผู้ดูแลเด็ก มีอาสาสมัครสาธารณสุขเชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก 52,236 คน เป็นผู้เฝ้าระวังพัฒนาการ ติดตามเด็กกลุ่มสงสัยพัฒนาการล่าช้า/ล่าช้า และเด็กที่ขาดการติดตาม ส่งต่อให้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง มีกลไกคณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีหน่วยงาน 4 กระทรวงเป็นเลขานุการ ทำหน้าที่ติดตามความก้าวหน้า สนับสนุน และแก้ไขปัญหา

ขณะนี้ เด็กเกิดใหม่ทุกคนได้รับแจกคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก รวมถึงเด็กที่เกิดก่อนโครงการฯ คือเด็กที่เกิดก่อนวันที่ 1 เมษายน 2558 ด้วย   

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ผนวกคู่มือเฝ้าระวังส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย สำหรับเด็กทั่วไป เข้าไปในแบบสังเกตพัฒนาการเด็กอนุบาล 1 ของ สพฐ. และอบรมศึกษานิเทศก์ใน 183 เขตพื้นที่การศึกษา กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ อบรมการใช้คู่มือฯ ให้ผู้ปฏิบัติงานในสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน และการใช้กลไกคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการฯ  

กรมแพทย์ทหารบก กระทรวงกลาโหม อบรมการใช้คู่มือฯ พร้อมดำเนินการคัดกรองในหน่วยบริการ กรุงเทพมหานคร ใช้คู่มือฯในศูนย์บริการสาธารณสุข และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชน กระทรวงมหาดไทย สนับสนุนการดำเนินงาน และงบประมาณในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  ทั้งนี้ เด็กเกิดใหม่ทุกคนได้รับแจกคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก รวมถึงเด็กที่เกิดก่อนโครงการฯ คือเด็กที่เกิดก่อนวันที่ 1 เมษายน 2558 ด้วย   

ทั้งนี้ จะเปิดการรณรงค์ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมการแพทย์ทหารบก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมทั้งได้เชิญภริยาท่านนายกรัฐมนตรี นายกสมาคมแม่บ้านทหารบก และเจ้ากรมการแพทย์ทหารบก มาร่วมในพิธีเปิดครั้งนี้ด้วย