ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ร่วมกับ สสส. เครือข่ายหมออนามัยและ อสม.เดินหน้าโครงการ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” ชี้แจงสร้างความเข้าใจเครือข่ายผู้ปฏิบัติงาน ชวนผู้สูบ “หักดิบ” เลิกบุหรี่ แนะใช้แรงใจยึดเหนี่ยว ทำดีเพื่อในหลวง  

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2559 ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี  ในการประชุมเสริมสร้างความร่วมมือเครือข่ายโครงการ “ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” เพื่อชี้แจง สร้างความรู้ ความเข้าใจถึงขั้นตอนการทำงานแก่เครือข่ายผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ และพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัยและ อสม.ในการดำเนินงานเลิกสูบบุหรี่ในชุมชน จัดโดย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย สมาคมหมออนามัย สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติครบ 70 ปี ตั้งเป้ามีผู้เลิกสูบบุหรี่ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือนหรือตลอดชีวิต และให้ได้ 3 ล้านคน ในเวลา 3 ปี  

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายหมออนามัย กว่า 4 หมื่นคน และ อสม.กว่า 1 ล้านทั่วประเทศกว่า พร้อมที่จะขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้สูบบุหรี่ได้เกิดการตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่ โดยการมีส่วนร่วมของพื้นที่ จัดกิจกรรมรณรงค์ กระจายข่าวสาร เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ทราบถึงพิษภัยของการสูบบุหรี่ต่อตนเอง ครอบครัวและคนอื่นๆ อาศัยความเข้มแข็งของเครือข่ายหมออนามัยและ อสม.ขับเคลื่อน ซึ่งเป็นกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขมีครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ สามารถเข้าถึง เข้าใจและพร้อมจะทำงานอย่างเต็มที่

และในปี 2559 นี้ เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 89 พรรษา การที่ประชาชนในชาติและผู้สูบบุหรี่ จะได้มีโอกาสทำกิจกรรมสำคัญอันถือเป็นคุณงามความดี ถวายแด่องค์ในหลวงฯ ร่วมกัน ด้วยการเลิกสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้ไป จนถึงปี 2561 จึงนับเป็นโอกาสอันดีในการสร้างเสริมสุขภาพและช่วยลดความสูญเสียชีวิตจากพิษภัยของบุหรี่ลงได้   

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้มุ่งหวังให้เกิดการรณรงค์สร้างกระแสรักสุขภาพและเลิกสูบบุหรี่ โดยใช้พลังเครือข่ายหมออนามัยและ อสม.ทั่วประเทศขับเคลื่อนทำงานเชิงรุก ชวนผู้สูบ “หักดิบ” เลิกสูบบุหรี่ ซึ่งนับเป็นวิธีการที่ได้ผลที่สุดพร้อมกับใช้แรงใจยึดเหนี่ยว มีกิจกรรมสร้างกระแสในวันสำคัญเป็นระยะ ควบคู่การให้ข้อมูลเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพด้วยการตั้งกลุ่มคนรักษ์สุขภาพ ออกกำลังกาย จัดกิจกรรมให้ความรู้ พุดคุยแลกเปลี่ยน ให้กำลังใจไม่ให้กลับไปสูบอีก จะส่งผลให้ประชาชนห่างไกลโรค มีสุขภาพวะที่ดีขึ้น ซึ่งเป้าหมายการมีผู้เลิกสูบบุหรี่ได้ 3 ล้านคน ใน 3 ปี จะเป็นตามที่วางไว้แน่นอน ทั้งนี้จะเริ่มกิจกรรมตามโครงการฯ พร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป       

รศ.มณฑา เก่งการพานิช คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้จัดการโครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน กล่าวว่า จังหวัดที่พบปัญหาการสูบบุหรี่รุนแรงทั่วประเทศ คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี เชียงราย แม่ฮ่องสอน ซึ่งข้อมูลผู้สูบบุหรี่ในประเทศสำรวจเมื่อปี 2557 พบว่าคนไทยสูบบุหรี่มากถึง 11.4 ล้านคน หรือ ร้อยละ 20.7 สูบบุหรี่มากสุดคือ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นกระบวนการทำงานสำหรับผู้ปฏิบัติงานต้องสร้างพลังบวกให้กับตนเอง มีอุดมการณ์ชัดเจนว่ากำลังสร้างฝันร่วมกัน สร้างความดีเพื่อในหลวงและประเทศชาติ จะเป็นพลังหนุนเสริมให้สำเร็จ ประกอบกับต้องสามารถเข้าถึง และเข้าใจ กระตุ้นจุดเปลี่ยนของการเลิกสูบบุหรี่ เช่น ครอบครัว คนรัก ลูก พ่อแม่ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งรวมทั้งการติดตามเพื่อไม่ให้หวนกลับไปสูบอีก

นอกจากนี้การมีสิ่งยุดเหนี่ยวจิตใจติดตัว เช่น การ์ดพลัง ที่จะแจกแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง พร้อมข้อความปณิธานตนเลิกบุหรี่เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล นำพกติดตัวได้ทุกที่ เพื่อเติมพลังใจในยามที่ขาดให้สามารถเลิกบุหรี่ได้อย่างที่ตั้งใจไว้    

นายประพาส สิทธิสาร อดีต รอง นพ.สสจ.นนทบุรี กล่าวว่า กว่า 11 ปี ที่เป็นผู้สูบหรี่ เริ่มต้นตั้งแต่ 27 ปี สูบเพราะแก้เขินอายและฆ่าเวลา เพื่อนแนะนำให้ลอง ตอนนั้นคนรอบข้างบ่นและต่อว่ามากมาย แต่ไม่รู้จะเลิกอย่างไร พยายามเลิกหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จเพราะสภาพแวดล้อมทั้งที่ทำงาน เพื่อนฝูง ยังสูบบุหรี่จึงอดใจไม่ไหว และคิดว่าเลิกได้แล้วระยะหนึ่ง หากสูบอีกคงไม่ไม่เป็นไร แต่กลับติดหนักกว่าเดิม แรกๆ สูบ วันละ 5-6 มวน จนหนักสุดวันละ 2 ซองติดต่อกันหลายปี ร่างกายเหนื่อยหล้า ไม่มีแรง ไม่กล้าพบหน้าคนรอบข้างเพราะเค้ารังเกียจ

จนเมื่อประมาณ ปี 2548 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่เพื่อในหลวง มีการชักชวนจากผู้บังคับบัญชา จึงตัดสินใจร่วมด้วยเพราะคิดว่าทำเพื่อแม่ และในหลวง ที่เคารพรัก จากนั้นเข้าพิธีปฏิญาณตนต่อพระฉายาลักษณ์ในหลวง ว่าจะเลิกสูบหรี่อย่างเด็ดขาด วันรุ่งขึ้นก็ “หักดิบ” ทิ้งบุหรี่ที่มีในบ้าน ที่ทำงานทั้งหมด และใช้ “ใจ”ที่เข้มแข็ง มุ่งมั่น อดทนต่อสิ่งเร้า หลังจากเลิกได้กล้าที่จะเข้าสังคม ครอบครัวชื่นชม คิดมาโดยตลอดว่าที่เลิกสูบบุหรี่ได้และมีอายุมาจน 70 ปีในวันนี้ได้ เพราะในหลวงและแม่โดยแท้  

นายสมนึก บำรุงญาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมหาดไทย อ.เมือง จ.อ่างทอง กล่าวว่า การทำเป็นแบบอย่างให้ดู เป็นสิ่งที่จะสามารถชักจูงและโน้มน้าวได้ดีที่สุด เริ่มจากตนเองที่ตัดสินใจใช้วิธร “หักดิบ” เลิกสูบบุหรี่ในวันพ่อ 5 ธันวา ถือเป็นวันเริ่มต้นใหม่ของของชีวิต ไปบอกเพื่อน บอกทุกคนเพื่อให้เป็นกำลังใจ และใช้การออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานเป็นตัวช่วยไม่ให้อยากสูบบุหรี่ จนสามารถชนะใจตนเองได้ จากนั้นไปชวน อสม.ที่สูบบุหรี่ที่มี 9 คน เลิกได้ 3 คน 1ใน 3 สามารถหักดิบได้ ส่วนอีก 2 คน ค่อยๆ เลิกได้

จากนั้นได้ชวน อสม.ทั้ง 3 คนไปชักชวนชาวบ้านที่สูบให้เลิกจนสำเร็จหลายราย ด้วยวิธีการทำเป็นแบบอย่างให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ยกย่องบุคคลที่เลิกบุหรี่ได้  มีการติดป้ายรณรงค์ไม่สูบบุหรี่หน้า รพ.สต.เป็นการกระตุ้นเตือน สร้างการรับรู้ให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม  สิ่งสำคัญของการเลิกสูบบุหรี่ คือ ต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ สิ่งกระตุ้น ความหวัง กำลังใจทั้งจากตนเองและคนรอบข้าง การเลิกบุหรี่ไม่ใช่เรื่องยาก “แค่อ้าปาก ก็เลิกได้”