ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือกับสภาคณบดีสถาบันผลิตบัณฑิตเทคนิคการแพทย์ สภาเทคนิคการแพทย์ และสมาคมเทคนิคการแพทย์ เพื่อร่วมมือทางวิชาการ ในการพัฒนางานเทคนิคการแพทย์ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีคุณธรรมจริยธรรม พัฒนาบัณฑิตเทคนิคการแพทย์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานในการดูแลสุขภาพประชาชน เผยปัจจุบันมีนักเทคนิคการแพทย์ 3,800 คน ขณะนี้ยังมีความต้องการอีกประมาณ 5,200 คน

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ และการพัฒนางานทางวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับ ศ. ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานสภาคณบดีสถาบันผลิตบัณฑิตเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย รศ.สมชาย วิริยะยุทธกร นายกสภาเทคนิคการแพทย์ นายสมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย ศ.วีระพงศ์ ปรัชชญาสิทธิกุล ที่ปรึกษาสภาคณบดีฯ และ นพ.กิตติ กรรภิรมย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข 

นพ.โสภณ ให้สัมภาษณ์ว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นการสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการ วิจัย และพัฒนาทางวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ตามนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีคุณภาพของประเทศ เพื่อประโยชน์ในการดูแล ส่งเสริมสุขภาพของประชาชนตามกลุ่มวัยในพื้นที่ การพัฒนาอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภครองรับสู่ครัวโลก วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมพึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สอดคล้องทิศทางยกระดับสู่ศูนย์กลางบริการทางสุขภาพในระดับนานาชาติ (Medical Hub) บูรณาการทุกภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐ

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า การพัฒนาการจัดการศึกษา ฝึกอบรมบัณฑิตเทคนิคการแพทย์ระดับต่างๆ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีจริยธรรมแห่งวิชาชีพให้เพียงพอต่อการจัดระบบบริการสุขภาพ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยเป็นความร่วมมือของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงฯ มหาวิทยาลัย และชุมชนในพื้นที่เป็นแหล่งความรู้ การวิจัย พัฒนา รวมทั้งการให้บริการทางสุขภาพในระดับต่างๆ ได้แก่ บริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ การทำงานร่วมกับวิชาชีพต่างๆ อาสาสมัครทางสุขภาพในระดับครอบครัวและพื้นที่ การต่อยอดงานวิจัยทางเทคนิคการแพทย์ พัฒนากำลังคนทางเทคนิคการแพทย์ กรอบอัตรากำลัง ให้ตรงตามความต้องการ มีการกระจายตัวและมีภาระงานที่เหมาะสม ให้สามารถขยายผลและเชื่อมโยมการพัฒนาไปสู่ผู้มีส่วนร่วมในระบบสุขภาพ ให้สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด

ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข มีนักเทคนิคการแพทย์ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลและหน่วยงานในสังกัด กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3,800 คน ขณะนี้ยังมีความต้องการอีกประมาณ 5,200 คน โดยหลังลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จะมีการพัฒนาสมรรถนะนักเทคนิคการแพทย์ โดยการผลิตหลักสูตรเฉพาะทาง 4 เดือน หลักสูตรระดับปริญญาโท ปริญญาเอก เพื่อรองรับตามแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ให้เพียงพอต่อการให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่