ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอเจตน์” แจงข้อเสนอ “แยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว” ช่วยแก้ปัญหา รพ.ขาดสภาพคล่องเหตุจากเงินเดือน แถมสะท้อนงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าชัดเจน เชื่อทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ชี้หลักการรวมเงินเดือนเพื่อกระจายบุคลากรตามประชากรเป็นเจตนาที่ดี แต่บริบทของไทยหลังดำเนินการ 14 ปี ทำไม่สำเร็จ เหตุติดปัญหาโครงสร้าง รพ.สธ.ที่กำหนดบุคลากรตามเกณฑ์ ซ้ำไม่มี รพ.ออกนอกระบบเพิ่ม มี รพ.บ้านแพ้วแห่งเดียว

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงข้อเสนอในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้บังคับใช้มาร่วม 14 ปีแล้ว โดยหลักการเดิมที่ให้รวมเงินเดือนไว้ในงบเหมาจ่ายรายหัว เพื่อมุ่งให้มีการกระจายบุคลากรในระบบสุขภาพออกไปตามประชากรแต่ละพื้นที่ คือพื้นที่ใดมีประชากรมาก ควรมีบุคลากรสุขภาพเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นเจตนาที่ดี แต่หลังจากที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ดำเนินมาถึงปัจจุบัน ปรากฎว่ายังไม่สามารถเกลี่ยบุคลากรในระบบได้ เนื่องจากติดโครงสร้าง รพ. ที่กำหนดจำนวนบุคลากรตามขนาดของ รพ. ดังนั้นการจะทำแบบนั้นได้ รพ.จะต้องออกนอกระบบและบริหารในรูปแบบองค์การมหาชนก่อน ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่มี รพ.ใดออกนอกระบบเพิ่มเติม นอกจาก รพ.บ้านแพ้ว 

ทั้งนี้จากโครงสร้างของ รพ.ดังกล่าว ส่งผลให้ รพ.ขนาดเล็ก หรือ รพ.ที่มีประชากรน้อยขาดสภาพคล่องตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ เนื่องจากเงินเดือนที่ต้องจ่ายให้กับบุคลากรของ รพ.มีจำนวนที่เกินกว่างบเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับการจัดสรร ทำให้ สปสช.ต้องจัดงบสนับสนุนเพิ่มเติมในทุกปี จึงเป็นที่มาของข้อเสนอให้แยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวตั้งแต่ปี 2551 

นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว นพ.เจตน์ กล่าวต่อว่า เมื่อดูโครงสร้างเงินในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะได้รับการจัดสรรงบต่ำกว่าตัวเลขที่เสนอขาขึ้นทุกปี ส่งผลให้การดำเนินโครงการ สปสช.ต้องใช้งบอย่างจำกัดจำเขี่ย ดังนั้นหากแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวจะทำให้มองเห็นงบประมาณในระบบที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาข้อเท็จจริงได้มีการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวอยู่แล้ว โดยมีการรวมเงินเดือนไว้ในงบเหมาจ่ายร้อยละ 60 ส่วนอีกร้อยละ 40 ที่เหลือเป็นงบบริการสาธารณสุขสำหรับประชาชน

ที่ผ่านมาแม้ว่า สปสช.จะเห็นด้วยในหลักการนี้ แต่ก็มีความเป็นห่วงว่างบเหมาจ่ายรายหัวจะลดลงไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้จึงต้องยืนยันว่า ในปีแรกของการแยกเงินเดือน งบเหมาจ่ายที่ สปสช.ได้รับจะต้องไม่ลดลงหรือ สปสช.ต้องได้งบเท่าเดิม

“14 ปีของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เจตนาของการรวมเงินเดือนนอกจากไม่สามารถกระจายบุคลากรได้แล้ว ยังส่งผลให้ รพ.บางแห่งเกิดปัญหาขาดทุน ดังนั้นจึงควรแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เพื่อให้สะท้อนตัวเลขที่เป็นจริง เพื่อให้ประชาชนรับทราบ และต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งเรื่องให้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ หากไม่ใช่จะสามารถเสนอร่างแก้ไขเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนช.ได้เลย แต่หากตีความว่าเป็นกฎหมายการเงินจะต้องส่งกลับให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ร่างกฎหมายและเสนอต่อ สนช.ใหม่ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าข้อเสนอการแยกเงินเดือนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย” ประธาน กมธ.สาธารณสุข สนช. กล่าว

นพ.เจตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากประเด็นปัญหาการบริหารกองทุน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศ ม.44 แล้ว ยังมีข้อเสนอในเรื่องเขตสุขภาพ โดยดึงให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการบริหารงบประมาณระดับเขต ซึ่งทั้งกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.ต่างมีเขตสุขภาพเช่นกัน แต่มีแนวคิดและการดำเนินการที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องมีการหาข้อสรุป เพื่อให้เกิดการบริหารงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ

ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมามีความเป็นห่วงต่อการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะจากภาคประชาชน นพ.เจตน์ กล่าวว่า โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นโครงการที่ดี และประเทศไทยดำเนินการมาก่อนที่สหประชาชาติจะประกาศให้ทุกประเทศมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2573 สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีแนวคิดที่ทันสมัยในเรื่องการดูแลสุขภาพประชาชน อย่างไรก็ตามจากที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ดำเนินมา 14 ปี แล้ว จำเป็นต้องมีการทบทวนและปรับแก้เพื่อให้ระบบมีความยั่งยืน เพราะไม่เช่นนั้นจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ จะประสบปัญหาต่องบประมาณในระบบที่ไม่เพียงพอ และในที่สุดจะส่งผลต่อคุณภาพการรักษาพยาบาลที่ลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากโรงพยาบาลต้องบริหารงบประมาณอย่างจำกัด จึงอยากให้ผู้ที่คัดค้านเข้าใจ