ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการร่วมกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.ทำแนวทางการจัดสรรเงินหลักงบประมาณประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2560 จำนวน 165,773.01 ล้านบาท ให้บริการตามแนวทางปีงบประมาณ 2559 เพิ่มความครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น อาทิ ผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวี ไตวายเรื้อรัง โรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง มุ่งเน้นให้สามารถจัดบริการที่เสมอภาคและเท่าเทียม

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข และประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่า คณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ประชุมหารือกันกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแนวทางการจัดสรรเงินงบประมาณสำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปีประมาณ 2560 ให้กับหน่วยบริการเพื่อให้มีทรัพยากรเพียงพอในการจัดบริการต่อประชาชนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม โดยยึดแนวทางจัดสรรเดิมของปีงบประมาณ 2559 แต่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เช่น การดูแลผู้สูงอายุจาก 1 แสนคนเป็น 1.5 แสนคน

โดยในปี 2560 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 165,773.01 ล้านบาท ประกอบไปด้วยกองทุนเหมาจ่ายรายหัว และกองทุนนอกเหมาจ่ายรายหัว 5 กองทุน ได้แก่

1.บริการผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวี 3,122.40 ล้านบาท  

2.บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 3,529.23 ล้านบาท

3.บริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง 960.40 ล้านบาท

4.ค่าใช้จ่ายสำหรับโรงพยาบาลในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัยและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,490.28 ล้านบาท

และ 5.ค่าบริการสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 900 ล้านบาท

“ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข มุ่งเน้นงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ได้มีการจัดงบประมาณสนับสนุน ระบบบริการปฐมภูมิ (Primary Care Clusters) เพื่อบริการประชาชนที่เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างจำกัด ลดระยะเวลารอคอย ลดความแออัด ให้เกิดบริการทุกที่ ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี โดยเน้นรักษาโรคเรื้อรัง การเจ็บป่วยที่ไม่ซับซ้อน และการดูแลแบบองค์รวมโดยบูรณาการทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว่า สำหรับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว เพื่อบริการทางการแพทย์ต่างๆ 109,463.44 ล้านบาท คิดเป็น 3,109.87 บาทต่อผู้มีสิทธิ ได้แบ่งเป็นเงินสำหรับการดำเนินงานดังนี้  

1.สำหรับให้บริการผู้ป่วยนอก

2.ผู้ป่วยใน

3.ส่งเสริมป้องกันโรค

4.บริการกรณีที่มีค่าใช้จ่ายสูง

5.บริการฟื้นฟูด้านการแพทย์

6.บริการแพทย์แผนไทย

7.งบลงทุน

และ 8.เงินช่วยเหลือผู้รับบริการ/ผู้ให้บริการ

สำหรับแนวทางการจัดสรรงบประมาณ มุ่งเน้นให้สามารถจัดบริการที่เสมอภาคและเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำ โดยการจัดการความเสี่ยงในโรคที่เข้าถึงได้ยาก จะตั้งงบประมาณไว้ในระดับประเทศที่ สปสช. ส่วนโรคอื่นๆ ที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนให้มีการจัดการในระดับเขตบริการสุขภาพ เน้นให้หน่วยบริการมีงบดำเนินการเพียงพอต่อการบริการประชาชนที่จำเป็น  

ทั้งนี้ จะมีการหารือแนวทางการจัดสรรอีกครั้งภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 เพื่อสรุปแนวทางการจัดสรร จากนั้นจะเสนอผ่านคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องและบอร์ด สปสช.เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป