ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ระหว่างที่กระแสล้มหรือไม่ล้มระบบ 30 บาท รวมถึงความหวั่นใจของสังคมว่าหลักการ 30 บาทจะถูกเปลี่ยนได้กลับมาเป็นข่าวความเคลื่อนไหวร้อนแรงในสังคมอีกครั้ง หลังจากซาไปพักใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้เชื่อแน่ว่าจะกลับมาเป็นกระแสแบบนี้ไปอีกหลายครั้ง เพราะความไม่ชัดเจนว่า ที่บอกจะพัฒนาให้ดีขึ้นนั้นจะทำอย่างไร เนื่องจากสังคมยังคลางแคลงใจว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ คือ จะทำให้เป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป หรือจะกลับกลายมาเป็นระบบสงเคราะห์ผู้ยากไร้กันแน่

และอาจจะด้วยผลจากกระแสล้ม ไม่ล้มระบบ 30 บาท จึงทำให้ข่าวความเคลื่อนไหวเรื่องการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงภายในกระทรวงสาธารณสุขดูจะเงียบงัน ต่างจากทุกปี ทั้งที่ในปีนี้ถือเป็นปีหนึ่งที่อธิบดีกรมใหญ่หลายกรมจะเกษียณราชการ ซึ่งนั่นหมายความว่าจะมีการโยกย้ายปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ และแว่วว่าปีนี้จะมีการโยกย้ายเร็วตั้งเป้าหมายว่าทุกตำแหน่งต้องเสร็จสิ้นภายใน ก.ย.นี้เพื่อพร้อมสำหรับการเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ ซึ่งจะต่างจากทุกๆ ปี ที่ฤดูกาลโยกย้ายทุกตำแหน่งกว่าจะเสร็จสิ้นก็ล่วงเข้าไปถึงธันวาคม เดือนสุดท้ายของไตรมาสที่หนึ่ง

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

สำหรับการโยกย้ายล็อตแรกนั้น ก.ย.นี้ข้าราชการระดับสูงระดับอธิบดี 4 กรม 1 อย. ผู้ตรวจราชการ 1 ราย และ สาธารณสุขนิเทศก์ 2 ราย ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ดังรายชื่อต่อไปนี้

1.นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค

2.นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก

3.นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

4.นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย.

5.นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์

6.นพ.ปภัสสร เจียมบุญศรี ผู้ตรวจราชการ

7.นพ.ธำรง สมบุญตนนท์ สาธารณสุขนิเทศก์

8.นพ.ประวิ อ่ำพันธุ์ สาธารณสุขนิเทศก์

เท่ากับว่าระดับ 10 จะว่าง 6 ตำแหน่ง และหากดูสไตล์การทำงานของ รมว.สธ.คนนี้ และปลัด สธ.คนปัจจุบัน ก็มีการคาดการณ์กันว่า คงจะมีการโยกย้ายเร็ว เพื่อให้การจัดกำลังคนลงตำแหน่งรองๆ ลงมาไม่สะดุด พร้อมรับกับแผนปฏิรูประยะสั้น 18 เดือนที่ สธ.กำลังขมักเขม้นอยู่ขณะนี้

เบื้องต้นมีรายงานว่า เกณฑ์ที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข และ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ.นำมาใช้ในการโยกย้ายแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของ สธ.ขึ้นสู่ตำแหน่ง 4 กรมและ 1 อย.ที่ว่างอยู่คือ ใครเหลืออายุราชการปีเดียวได้ขึ้นเป็นอธิบดีที่แม้จะระดับ 10 เท่ากับกับตำแหน่งผู้ตรวจราชการ และรองปลัด แต่ก็ถือว่ามีศักดิ์ศรีดีกว่า โดยเฉพาะถ้าได้คุมกรมใหญ่

นพ.โสภณ เมฆธน

แล้วมีใครบ้างที่เหลืออายุราชการปีเดียว ไล่เรียงดูแล้ว ในระนาบรองปลัด มี พญ.ประนอม คำเที่ยง และ นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร ระนาบผู้ตรวจราชการ คือ นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ, นพ.สุเทพ วัชรปิยานันท์ ผู้ตรวจฯ เขต 12, ขณะที่ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจฯ เขต 4 แม้จะเหลืออายุราชการ 2 ปี แต่ก็อยู่ในไลน์ที่จะได้ขึ้น เนื่องจากเป็นรางวัลปลอบใจในฐานะคน สธ.ที่ลงสมัครชิงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.

นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ หัวหน้าและผู้ตรวจฯ เขต 5 นั้น ถือว่าเป็นผู้ตรวจคนสำคัญคนหนึ่งที่มีผลงานจับต้องได้ ได้รับการยอมรับด้านการบริหารจัดการภายในเขต มีบารมีและฝีมือที่สามารถจัดการเรื่องค่าตอบแทนได้เมื่อถูกตั้งเป็นประธานกรรมการในเรื่องนี้ การขึ้นสู่อธิบดีเป็นรางวัลก่อนจะเกษียณอายุราชการในปี 60

ขณะที่ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจฯ เขต 4 นั้น ที่จะได้รับรางวัลปลอบใจให้ขึ้นเป็นอธิบดี หลังจากเป็นตัวแทน สธ.ลงสมัครเลขาธิการ สปสช.และเป็น 1 ใน 2 ผู้สมัครที่ผ่านการสรรหา แต่คุณสมบัติไม่ผ่านกฎหมายหลักประกันสุขภาพ

จาก 5 คนข้างต้นนี้ก็ถือได้ว่าลงล๊อคกับตำแหน่งอธิบดีและเลขาธิการ อย.

นพ.ธีรพล โตพันธานนท์

แต่เนื่องจากอธิบดี 2 กรมใหญ่ คือ กรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ เกษียณ รวมถึงเลขาธิการ อย. ดังนั้นในระนาบของอธิบดีก็ย่อมจะมีการขยับอธิบดีบางกรมไปขึ้นกรมใหญ่ คาดการณ์กันว่า นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัยน่าจะขยับไปเป็นอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข จากอธิบดีกรมสุขภาพจิต อาจจะกลับคืนถิ่นเก่ากรมอนามัย ในฐานะลูกหม้อกรมนี้มานาน เช่นเดียวกับ นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ จากอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ก็คงจะถูกดึงกลับคืนถิ่นเก่าคือกรมการแพทย์

แต่สปอตไลท์สำคัญของการโยกย้ายครั้งนี้ที่ผู้บริหารระดับสูงใน สธ.จับตากันอยู่คือ ใครจะมาเป็นเลขาธิการ อย.คนใหม่

ทำไมเลขาธิการ อย.ถึงสำคัญ นั่นเพราะช่วงที่ผ่านมาหากใครติดตามข่าวจะได้ยิน รมว.ปิยะสกลเปรยๆ อยู่หลายครั้งว่า อย.ต้องพัฒนาประสิทธิภาพให้เร็วกว่านี้ในการพิจารณาขึ้นทะเบียนยา ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และรัฐบาล คสช.ก็ตั้งเป้าว่า อย.ต้องขยับให้ทันต่อความต้องการของอุตสาหกรรมยาด้วย แต่สิ่งที่ปรากฎคือความล่าช้าแบบระบบราชการที่ดูยังไงก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งเรื่องนี้ รมว.ปิยะสกลถึงขั้นเปรยๆ ว่า เร็วนี้ๆ อาจจะเห็นคำสั่ง ม.44 มาขันน๊อตเรื่องนี้

เมื่อเป้าหมายคือการปฏิรูป และยกเครื่อง อย.ขนานใหญ่ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเลือกผู้บริหารที่มีฝีมือและความสามารถเพียงพอที่จะกุมงานใหญ่เช่นนี้ได้ และคนนั้นก็มีโอกาสสูงที่จะได้ขึ้นเป็นปลัดต่อจากปลัดโสภณที่จะเกษียณอายุราชการในปีหน้าด้วย หากทำงานผลงานได้ดี ฉะนั้นหากเลือกคนที่เหลืออายุราชการเพียงปีเดียวมานั่งตำแหน่งนี้ การทำงานไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

ด้วยเหตุนี้ ตำแหน่งเลขาธิการ อย.จึงต้องจับตาดูในวินาทีสุดท้ายว่า รมว.ปิยะสกลและปลัดโสภณจะตัดสินใจโดยยึดหลักการใด ระหว่างอาวุโส กับความรู้ความสามารถที่จะมายกเครื่อง อย.ให้ทันต่อเศรษฐกิจยุคดิจิตอลนี้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ยากที่จะเดาใจทั้ง 2 ท่านนี้ได้

ต่อมา เมื่อขยับ 5 ตำแหน่งข้างต้นแล้ว ตำแหน่งรองปลัดจะว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง ใครบ้างที่อยู่ในไลน์ที่อาจจะถูกพิจารณาให้ขึ้นเป็นรองปลัด เมื่อดูในสายผู้ตรวจราชการจะเห็นชื่อตัวเก็งที่พอจะขึ้นเป็นรองปลัดได้ นั่นคือ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์วรจิต รองหัวหน้าผู้ตรวจฯ และผู้ตรวจฯ เขต 9 ที่มีรายงานข่าวว่าถูกทาบทามให้มานั่งตำแหน่งรองปลัด สธ.แล้วด้วย

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์วรจิต

ดังนั้นก็จะเหลือ 1 ตำแหน่งรองปลัดที่ว่างอยู่ ชื่อของ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจฯ เขต 2, นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ผู้ตรวจฯ เขต 3, และ นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ ผู้ตรวจฯ เขต 10 รวมถึงชื่อของ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ ผู้ตรวจฯ เขต 6 และ นพ.ณรงค์ สายวงศ์ ผู้ตรวจฯ เขต 7 ที่แม้จะเพิ่งได้ขยับเป็นผู้ตรวจราชการ หลังเป็นรองอธิบดีมานาน แต่ด้วยฝีมือการทำงาน และสายสัมพันธ์ที่ดีกับทีมที่ปรึกษา โดยเฉพาะ นพ.ชาตรี บานชื่น ก็ถูกจับตาว่าเป็นหนึ่งในแคนดิเดตเช่นกัน

ถัดมาเมื่อผู้ตรวจราชการถูกโยกไปขึ้นรองปลัด และอธิบดีแล้ว ก็จะว่างอยู่ 6 ตำแหน่ง ซึ่งธรรมเนียมการคัดเลือกให้ขึ้นระดับผู้ตรวจราชการนั้น จะคัดมาจาก 3 สายนี้ คือ สายรองอธิบดี สายสาธารณสุขนิเทศก์ และสายผู้ทรงคุณวุฒิ

ใน 3 สายนี้ ใครบ้างที่มีลุ้น ซึ่งตัวเก็งมีทั้ง

นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ สาธารณสุขนิเทศก์ เขต 8 ถือเป็นมือทำงานตัวจริงที่ขับเคลื่อนเขตสุขภาพจนเห็นผลจริง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ที่เป็นมือทำงานของกรมมานาน

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต นอกจากฝีมือการทำงานแล้วยังมีคุณสมบัติที่ดีตรงที่เป็น “น้องเลิฟ” ของที่ปรึกษา รมว.ปิยะสกล ซึ่งในระบบอุปถัมภ์แบบไทยๆ นั้น ถ้าจะเติบโตในชีวิตราชการได้ ต้องมี ฝีมือบวกคอนเนคชั่นด้วยพร้อมกัน

นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย ถือว่าอาวุโสในกรมอนามัย

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ที่เป็นรองอธิบดีกรมการแพทย์มายาวนาน โยกย้ายครั้งนี้ก็อาจจะอยู่ในไลน์ที่ได้ขึ้นกับเขาเสียที

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. เป็นอีกหนึ่งมือทำงานใน อย.มานาน หากได้ขึ้นเป็นผู้ตรวจราชการฯ ก็ถือว่าจะเป็นเภสัชกรหนึ่งเดียว ซึ่งนานๆ ที่จะได้เห็นวิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่หมอขึ้นในระนาบผู้บริหาระดับสูงกับเขาใน สธ.

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ก็เป็นอีกหนึ่งมือทำงานที่ถูกจัดในกลุ่มตัวเก็งเช่นกัน

ขณะที่ในสายผู้ทรงคุณวุฒิขณะนี้นั้น ยังมองไม่เห็นใครที่จะมีฝีมือพอจะขึ้นได้ ยกเว้นว่าอาวุโสและเส้นใหญ่จริงๆ

และทั้งหมดนี้เป็นการคาดการณ์เพียงล๊อตแรกของฤดูกาลโยกย้ายผู้บริหารระดับสูง สธ.ปีนี้ เมื่อ รมว.ปิยะสกล และปลัดโสภณ จัดการล๊อตแรกนี้สำเร็จก็ยังมีอีกหลายล๊อตตามมาเพื่อไล่ให้ครบตำแหน่งที่ว่างลง จนไปถึงระดับ นพ.สสจ. ผอ.รพศ./รพท.

ขณะที่เมื่อดูจากช่วงเวลาแล้ว หากจะให้ภารกิจที่ว่าจะแต่งตั้งให้เสร็จใน ก.ย.นี้สำเร็จ ก็ต้องโยกย้ายผู้บริหารระดับ อธิบดี รองปลัด และผู้ตรวจราชการให้แล้วเสร็จภายในสิ้น ก.ค.หรือ ส.ค.นี้ เพื่อเตรียมทัพรับแผนการปฏิรูปสาธารณสุขที่ สธ.ลั่นวาจามานาน แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นผล สภาพการณ์ที่เป็นคือ เข้ามาเคลียร์ปัญหาที่สั่งสมและจัดระบบให้ลงตัว เวลาที่เหลืออีก 1 ปีนี้ทั้งของ รมว.และปลัด จึงต้องดูว่าจะมีผลงานชิ้นใดสำเร็จให้สมกับที่ซุ่มจัดระบบและเคลียร์ปัญหาในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานี้