ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เสียงเตือนดังๆ จาก ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ เมื่อเริ่มเห็นเค้าลางแนวคิดการลงโทษคนไข้ที่ป่วยจากพฤติกรรมสุขภาพที่ทำเอง เรื่องนี้ นพ.ธีระ ชี้ว่า การเจ็บป่วยไม่สบายของคนเรานั้น มาจากเรื่องที่ทั้งคุมได้ด้วยตนเอง และคุมไม่ได้แม้จะรู้ทั้งรู้ "การสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" เพื่อช่วยดูแลประชาชนยามเจ็บไข้ได้ป่วย ให้ฟื้นคืนสู่สภาพปกติ และกลับมาสร้างผลิตภาพให้กับประเทศ...คือสิ่งเดียวที่รัฐจะทำ และชดเชยให้กับประชาชนได้

แต่การดูแลผ่านการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ต้องดูแลด้วยความเป็นธรรม ด้วยเหตุด้วยผล และด้วยจิตใจที่มองคนทุกคนเป็น "คน" คิดอย่างสร้างสรรค์ จะทำให้เกิดการพัฒนา คิดแบบลงโทษ จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเป็นรากเหง้าของปัญหาสังคมที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนหยุดไม่อยู่

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

"ปัญหาสุขภาพ" คือ "ปัญหาสังคม" ...

พี่สาวที่เคารพรักท่านหนึ่งเขียนเล่าสาระด้านสุขภาพจากการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเมื่อไม่นานมานี้ แนวคิดเรื่อง "การโทษเหยื่อ" หรือเรียกว่า Victim blaming ได้รับการหยิบยกมาแลกเปลี่ยนกันในที่ประชุม โดยมีพี่ชายที่เคารพรักอีกท่านช่วยทบทวนหลักฐานทางวิชาการมานำเสนอ

คนที่เป็นโรคอ้วนจนเป็นเบาหวานความดันไขมันสูง หรือแม้แต่คนเมาขับรถขับมอเตอร์ไซค์จนเกิดอุบัติเหตุ พิการ หรือเสียชีวิต ตลอดจนคนสูบบุหรี่จนเป็นถุงลมโป่งพอง หรือมะเร็งปอด...เหล่านี้คือปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคนโดยตรง

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไม่คล่องตัว ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพสูงขึ้น จนกองทุนสุขภาพหลักๆ มีสถิติตัวเลขค่าใช้จ่ายสูงจนน่าตกใจ เราจึงเห็นหลายต่อหลายคน หลายต่อหลายหน่วยงานเริ่มหยิบยกแนวคิดที่ว่า

"ในเมื่อปัญหาสุขภาพเหล่านั้นมาจากคนเหล่านั้นที่ไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเอง เสพสิ่งเสพติด กินของเยอะแยะไม่หยุดหย่อน ไม่เลือกกินของที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ออกกำลังกาย หรือแม้แต่ไม่ปฏิบัติตัวตามที่ถูกที่ควร ดังนั้นน่าจะถึงเวลาแล้วที่เขาเหล่านั้นจะต้องรับผิดชอบตัวเอง จ่ายค่ารักษาเองทั้งหมดหรือบางส่วนที่ต้องมากกว่าคนที่ปฏิบัติตัวดี หรือมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่เป็นโรคเหล่านั้น แบบนี้สิถึงจะเป็นธรรม"

แนวคิดข้างต้นนั้นน่ากลัวยิ่งนัก เพราะเหตุใด? โรคแทบทุกโรคที่โลกเรารู้จัก ล้วนเกิดจากเหตุภายในตัวคน และนอกตัวคนทั้งสิ้น

ขยายความว่า "ในตัวคน" นั้นหมายถึงการที่คนคนนั้นเกิดมาแล้วมีระบบต่างๆ ในร่างกายที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคภัยไข้เจ็บบางชนิดหรือหลายชนิดอยูแล้ว ยกตัวอย่างเช่น โรคภูมิแพ้ทั้งแพ้อากาศ แพ้อาหาร แพ้ฝุ่นไร ตลอดจน มะเร็ง หรือแม้แต่อ้วน เบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูงด้วย

นั่นแปลว่า "คนเรานั้นเลือกเกิดไม่ได้ ไม่มีใครเกิดมาแล้วอยากเจ็บป่วยไม่สบาย แต่อยากอยู่ อยากปกติสุขทั้งนั้น" และนั่นจึงแปลว่า "แนวคิดการโทษคนที่เป็นโรคเหล่านั้น แล้วให้จัดการรับผิดชอบปัญหาค่าใช้จ่ายด้วยตัวเองจึงไม่เป็นธรรม"

"นอกตัวคน" นั้นหมายถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่รายรอบตัวคนในสังคม สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคน ทั้งอาหารการกิน สินค้าและบริการต่างๆ ถนนหนทางและระบบการคมนาคมขนส่ง ที่อยู่อาศัย/ที่พักพิง ทางเลือกที่มีในสังคมสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ การสื่อสาร การทำงาน และการเรียนรู้ทั้งในและนอกสถานศึกษา...

การเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นล้วนมาจากกฎระเบียบที่คนในสังคมตั้งขึ้นมาเพื่ออยู่ร่วมกัน พบปะกัน ทำมาค้าขายเพื่อใช้ชีวิต โดยหวังที่จะทำให้ตนเอง ครอบครัว และคนอื่นๆ อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ปลอดภัย มีศักดิ์ศรี และมีคุณภาพชีวิต

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันว่า สังคมใดๆ ในปัจจุบันได้รับอิทธิพลของกระแสเศรษฐกิจในระดับโลก ที่ทำให้การดำเนินชีวิตของคนในทุกสังคม รวมถึงประเทศไทยเปลี่ยนไปจากในอดีต ทั้งวิถีชีวิตแบบตะวันตก เน้นความสะดวกสบาย หรูหรา การวัดระดับฐานะและความน่าเชื่อถือของคนโดยดูจากยศ ตำแหน่ง ชื่อเสียง เงินทอง สังหาและอสังหาริมทรัพย์ที่ครอบครอง ตลอดจนลักษณะการใช้ชีวิตแบบหล่อสวยรวยเก๋อู้ฟู่

ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่รายรอบตัวคนในสังคมปัจจุบันจึงเป็นผลผลิตที่เกิดจากอิทธิพลดังกล่าว เบียดสิ่งที่เคยมีอยู่เดิม เช่น ความสงบ เรียบง่าย อาหารที่สดใหม่และมีความเป็นธรรมชาติ ราคาไม่แพง ให้ตกขอบหายไป ทดแทนด้วยอาหารจานด่วน หวานจัดเค็มจัดมันจัด สินค้าขายความเท่ผ่านเหล่าเซเลป สินค้าและบริการราคาแพงเว่อร์โดยอาศัยตราสินค้าและภาพลักษณ์ที่ล่อลวงผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้หลงเชื่อด้วยข้อมูลที่ถูกบางส่วนแต่ผิดซะส่วนใหญ่ ยังไม่นับถึงน้ำผสมน้ำตาลปริมาณมาก ที่เอาการพนันชิงรางวัลหลายต่อมากอบโกยเงินจากกระเป๋าของคนไปอย่างมากมายและยาวนาน

และแน่นอนว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ ก็ส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของประชาชนที่มีทั้งตั้งใจ และถูกล่อลวงให้ใช้สินค้า บริโภคสินค้า รับบริการเหล่านั้นไป

แต่หากพินิจพิจารณาให้ดีจะพบว่า นอกจากข้อเสียของวงจรสังคมทุนนิยมดังกล่าวแล้ว เหตุใดสิ่งต่างๆ เหล่านั้นจึงยังอยู่ยั้งยืนยงจากอดีตจนถึงปัจจุบัน แถมขยายตัวอย่างหยุดไม่ได้ล่ะ เพราะรายได้จากการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เหล่านั้นที่มากมายมหาศาลจนเกินกว่าที่ทั้งภาครัฐ และเอกชนจะตัดใจจากมันได้ จึงกลายเป็นเหตุผลหลักของการไม่ประสบความสำเร็จในการ "กำจัด" สิ่งต่างๆ เหล่านั้นออกไปจากสังคม กำไรส่วนหนึ่งถูกคืนกลับมาเป็นภาษีที่จ่ายให้รัฐนำมาใช้จ่ายประจำปี แม้กำไรส่วนมากจะอยู่ในกระเป๋าเจ้าของธุรกิจเหล่านั้น แต่ก็ได้รับคำสมอ้างว่า ธุรกิจเหล่านั้นยิ่งขยายตัว ยิ่งสร้างงานและจ้างคนในสังคมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ฟังดูดี๊ดี แม้จะไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าจริงเท็จเพียงใด

ปัญหาสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ได้รับการคาดหมายกันว่าเกิดจากปัจจัยภายนอกเหล่านี้ โดยอาจมีผลถึง 80% ของการมีหรือการเป็นโรคทั้งหมดของมนุษย์ โดยภาษาหรูๆ ระดับโลกเรียกว่า "ปัจจัยแวดล้อมทางสังคมที่กำหนดสุขภาวะ" หรือ Social Determinants of Health (SDH) การไปสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงทางสังคมเหล่านั้น เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ

หนึ่ง การตัดสินใจของคนที่จะไปรับ ไปใช้ ไปซื้อหาเอง แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าไม่ดี

สอง การตัดสินใจของคนที่จะไปรับ ไปใช้ ไปซื้อหา แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าไม่ดี แต่ไม่มีทางเลือก ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อมทั้งในบ้าน ในสังคมรอบบ้าน และที่พบบ่อยที่สุดคือความยากจน

จริงๆ แล้วจะมีสาเหตุที่สามในไม่ช้านี้คือ การตัดสินใจของคนที่จะไปรับ ไปใช้ ไปซื้อหา เพราะไม่มีทางเลือก เนื่องจากไม่มีทางเลือกที่ดีหลงเหลืออยู่ให้เข้าถึงได้อีกแล้ว (ซึ่งเรากำลังจะเห็นปรากฏการณ์นี้ในอนาคตอันใกล้ จากอิทธิพลของเศรษฐกิจทุนนิยมที่เอื้อต่อนายทุน จนทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ แบบชาวบ้านไม่สามารถอยู่รอดได้ โดยเฉพาะในเขตเมือง)

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เราจึงประจักษ์ชัดว่า การเจ็บป่วยไม่สบายของคนเรานั้น มาจากเรื่องที่ทั้งคุมได้ด้วยตนเอง และคุมไม่ได้แม้จะรู้ทั้งรู้ น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า รัฐซึ่งถือเป็นกลไกการดูแลประชาชนทุกคนในสังคม และมีส่วนเอี่ยวทุกด้านตั้งแต่รับประโยชน์เชิงภาษีทั้งจากบุคคลและจากธุรกิจอุตสาหกรรม ไปจนถึงภารกิจตามพันธะสัญญาที่ประชาชนมอบความไว้วางใจให้บริหารดูแลทุกอย่างในประเทศรวมถึงชีวิตและความมั่นคงปลอดภัยของคนในประเทศ จึงต้องแสดงบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบจากการกระทำของรัฐเอง ที่เปิดสนามการค้าเสรีเพื่อปั่นตัวเลขจีดีพี จนส่งผลกระทบต่อคนในชาติผ่านทางทุกขภาวะ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

"การสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" เพื่อช่วยดูแลประชาชนยามเจ็บไข้ได้ป่วย ให้ฟื้นคืนสู่สภาพปกติ และกลับมาสร้างผลิตภาพให้กับประเทศ...คือสิ่งเดียวที่รัฐจะทำ และชดเชยให้กับประชาชนได้

แต่การดูแลผ่านการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ต้องดูแลด้วยความเป็นธรรม ด้วยเหตุด้วยผล และด้วยจิตใจที่มองคนทุกคนเป็น "คน" คิดอย่างสร้างสรรค์ จะทำให้เกิดการพัฒนา คิดแบบลงโทษ จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเป็นรากเหง้าของปัญหาสังคมที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนหยุดไม่อยู่

ด้วยรักจาก

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ผู้เขียน ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย