ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีตบอร์ด สปสช. ค้านข้อเสนอเพิ่มสัดส่วนผู้แทน รพ./ผู้แทนวิชาชีพ บอร์ด สปสช. หวั่นทำบอร์ดขาดสมดุล แถมมุ่งปกป้องผลประโยชน์ รพ.และวิชาชีพ แทนปกป้องประโยชน์ประชาชน 48 ล้านคน พร้อมเสนอเพิ่มสัดส่วนภาคประชาชนเพื่อสนับสนุน บอร์ด สปสช.ทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนซื้อบริการ

นายนิมิตร์ เทียนอุดม

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้มีการปรับสัดส่วนของผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ว่าควรจะปรับสัดส่วนผู้แทนหน่วยงานราชการให้น้อยลง เพราะที่ผ่านมาตัวแทนหน่วยงานราชการที่เข้ามาทำหน้าที่บอร์ด สปสช.ไม่ค่อยให้เวลาศึกษาเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพที่ดี จึงไม่ค่อยเป็นประโยชน์มากนัก และส่วนส่วนของผู้ให้บริการ มองว่าควรยังคงไว้ในบอร์ด สปสช. แต่ควรเป็นสัดส่วนที่เหมาะสม และสมดุลกับสัดส่วนผู้แทนจากภาคส่วนอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อทำให้การบริการและการกำหนดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีคุณภาพ เนื่องจากผู้ให้บริการเป็นผู้ที่รับประโยชน์โดยตรงจากค่าใช้จ่ายในระบบ หากมีสัดส่วนมากไปอาจเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนได้ ดังนั้นตามที่กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้มีเพียงปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้แทนผู้ให้บริการจึงเป็นสัดส่วนเหมาะสมแล้ว   

“ตามข้อเสนอที่ขอเพิ่มผู้แทนหน่วยบริการกระทรวงสาธารณสุขในแต่ละระดับ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน เข้ามาเป็นบอร์ด สปสช.ตัองตัดสินใจดีๆ ว่าจะเข้ามาถ่วงดุลการทำงานในบอร์ด หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาหรือไม่ และอาจทำให้เสียความสมดุลในการทำหน้าที่ของบอร์ดด้วยสัดส่วนที่มากเกินไป และที่ผ่านมา สปสช.ได้ทำงานสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนกับหน่วยบริการทุกระดับมาตลอดอยู่แล้ว มีการตั้งคณะอนุกรรมการแต่ละชุดเพื่อทำหน้าที่ ดังนั้นควรใช้กลไกนี้ในการทำหน้าที่ดีกว่า” 

นายนิมิตร์  กล่าวว่า ส่วนผู้แทนวิชาชีพที่มีข้อเสนอของเพิ่มสัดส่วนด้วยนั้น จาการทำหน้าที่ในบอร์ด สปสช.ที่ผ่านมา มองว่าเป็นเหมือนจุดบอดของบอร์ด สปสช. เพราะการทำหน้าที่ส่วนใหญ่จะออกมาในลักษณะที่คอยปกป้องวิชาชีพมากไป ดูว่าแต่ละเรื่องที่มีการพิจารณาจะกระทบต่อวิชาชีพของตนเองหรือไม่ จึงละเลยการดูประโยชน์ส่วนรวมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งทำให้ประโยชน์ของผู้มีสิทธิ์ 48 ล้านคนต้องสะดุดลง ซึ่งไม่เป็นประโยชน์และเรื่องนี้ชัดเจนมากในคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งจะพบว่า ผู้แทนวิชาชีพจะปกป้องวิชาชีพมากกว่าการดูประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการ ดังนั้นจึงควรทบทวนสัดส่วนวิชาชีพให้น้อยลง

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ขณะที่สัดส่วนของภาคประชาชนในบอร์ด สปสช.นั้น ถ้าดูภาพรวมของบอร์ดต้องบอกว่าน้อยไป เพราะหากให้สมดุลจริงๆ ต้องเพิ่มสัดส่วนนี้มากกว่านี้ อีกทั้งบอร์ด สปสช.มีหน้าที่หลักสำคัญคือเป็นตัวแทนประชาชนในการจัดและซื้อบริการ ทั้งนี้จากสัดส่วนภาคประชาชนในบอร์ด สปสช.ขณะนี้ มีเพียง 5 คน จากจำนวนบอร์ด 30 คน หากจะใช้จำนวนตัดสินเรื่องใด ไม่มีสิทธิ์ที่ประชาชนจะชนะโหวตได้

อย่างไรก็ตามส่วนตัวไม่อยากให้การตัดสินในบอร์ดใช้วิธีเสียงข้างมาก แต่ควรใช้เหตุผลพิจารณาเป็นหลัก แต่การใช้เหตุผลปัจจุบันส่วนใหญ่ยังเป็นการใช้เหตุผลเพื่อปกป้องเฉพาะกลุ่มตนเอง ขณะนี้การทำหน้าที่ของบอร์ดภาคประชาชนในการปกป้องสิทธิให้กับประชาชนจึงค่อนข้างลำบากจึงอยากให้มีการเขย่าสัดส่วนบอร์ด สปสช.ใหม่เพื่อให้เกิดความสมดุลและเหมาะสมมากขึ้น เพื่อให้เป็นบอร์ดที่เป็นตัวแทนของประชาชนผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งประเทศ

ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมาผู้ให้บริการที่เป็นหน่วยบริการ ระบุว่าสัดส่วนผู้ให้บริการในบอร์ด สปสช.ขณะนี้ไม่สามารถสะท้อนปัญหาฝั่งผู้ให้บริการแต่ละระดับได้ นายนิมิตร์ กล่าวว่า ปัญหานี้ควรออกมาในรูปแบบคณะอนุกรรมการ ควรเป็นการพูดคุยในระดับอนุกรรมการ เพราะอย่างที่กล่าวข้างต้นว่าผู้ที่ทำหน้าที่ บอร์ด สปสช.ไม่ได้มีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม แต่เป็นการดูนโยบายโดยรวม ดังนั้นในรายละเอียดเหล่านี้ต้องเป็นการพูดคุยหารือในอนุกรรมการแทน อีกทั้งบอร์ด สปสช.มีการประชุมเพียงเดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น จึงไม่มีเวลาลงไปดูในรายละเอียดทั้งหมดได้ ดังนั้นเรื่องต่างๆ จึงต้องเป็นการพูดคุยและวิเคราะห์ในคณะอนุกรรมการที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ทั้งนี้หากนำทุกเรื่องเข้าสู่บอร์ดพิจารณาทั้งหมดคงเดินหน้าไม่ได้

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า โจทย์ใหญ่ขณะนี้คือทำอย่างไรให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเดินหน้าไปได้ ปัญหาใหญ่ที่รออยู่คือทำอย่างไรให้งบประมาณในระบบดูแลประชาชนเพียงพอ ทั้งยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำระบบสุขภาพที่ยังรอการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน รวมถึงการพัฒนาระบบและประสิทธิภาพรออยู่ ซึ่งหากยังอยู่บนฐานของความขัดแย้งแบบนี้ก็เสียดายโอกาสและเวลา ดังนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายหันมาทำงานร่วมกัน ไม่อยากให้คิดว่าการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ภาควิชาชีพหรือผู้ให้บริการเสียศักดิ์ศรี แต่ควรร่วมมือกันโดยแบ่งแยกการทำหน้าที่และบทบาทความรับผิดชอบให้ชัดเจน เพื่อทำให้ระบบหลักระกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม