ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลรัฐแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ออกนอกระบบ ปี 2543 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 17 ปีที่ “โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน)” เป็นบทพิสูจน์ศักยภาพการบริหารโรงพยาบาลรัฐในรูปแบบใหม่ที่สามารถดำเนินกิจการโรงพยาบาลภาครัฐได้ โดยที่รัฐไม่ต้องสนับสนุนงบประมาณ แต่ได้พัฒนาประสิทธิภาพบริการจน ยกระดับจากโรงพยาบาลชุมชนเป็น “โรงพยาบาลทั่วไป ระดับ S” จากความคล่องตัวการบริหาร    

นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร

นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว กล่าวว่า รูปแบบการบริหารของ รพ.บ้านแพ้ว หลังเป็นองค์การมหาชน ดำเนินงานโดยคณะกรรมการ มีผู้แทน 3 ส่วนร่วมบริหาร ประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยึดโยงตามนโยบายรัฐ ตัวแทนชุมชนเพื่อตอบสนองความต้องการคนในพื้นที่ และผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้การบริหาร รพ.เป็นมาตรฐาน ทั้งในด้านการเงิน การบริหาร และการบริการ เป็นการดำเนินงานที่ต่างไปจากอดีต จากที่เคยทำงานมุ่งตอบสนองภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องตอบสนองความต้องการคนในชุมชนที่เป็นเป้าหมายสำคัญ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีตัวแทนชุมชนร่วมเป็นกรรมการด้วย

ความเปลี่ยนแปลงของ รพ.บ้านแพ้ว หลังออกนอกระบและบริหารรูปแบบองค์กรมหาชน ?

นพ.พรเทพ : ที่เห็นได้ชัดคือความคล่องตัวการบริหาร โดยเฉพาะด้านการเงินที่เป็นจุดประสงค์หลักของการออกนอกระบบ ต้องยอมรับว่า รพ.ภาครัฐจะมีปัญหาความคล่องตัวการบริหารงบ ติดข้อจำกัดการกำหนดงบที่แบ่งเป็นหมวดหมู่ชัดเจน ไม่สามารถโยกงบได้ ต้องขออนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงการคลังก่อน จึงทำให้มีความยุ่งยากและล่าช้า ปัจจุบัน รพ.บ้านแพ้ว เพียงนำเสนอต่อบอร์ดที่มีความใกล้ชิดรับรู้ข้อจำกัดและปัญหาต่างๆ ของรพ. หากอนุมัติแล้ว จะสามารถดำเนินการได้ทันที ทำให้แก้ไขปัญหาได้โดยเร็ว

หากเป็น รพ.ในระบบ งบประมาณจะถูกแบ่งหมวดชัดเจน เช่น ก่อสร้างอาคาร อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น หากหมวดไหนมีเงินเหลือหรือไม่ได้ใช้เลยก็โยกงบไม่ได้ แม้ว่าบางหมวดจะไม่เพียงพอก็ตาม ทำให้เป็นอุปสรรคการบริหารอย่างมาก แต่หลังจากออกนอกระบบทำให้ข้อจำกัดนี้หมดไป โดย รพ.บ้านแพ้วได้รวมทุกหมวดงบประมาณและจัดสรรตามความจำเป็นและความเหมาะสม ทำให้เกิดประสิทธิภาพด้านงบประมาณมากกว่า

ความคล่องตัวการบริหาร รพ.ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการดำเนินงาน รพ.อย่างไร ?

นพ.พรเทพ : ความคล่องตัวนี้ทำให้การจัดบริการผู้ป่วยดีขึ้น โดย รพ.สามารถจัดและปรับการบริการได้ตามความจำเป็นและความต้องการของผู้ป่วยได้ เช่น กรณีที่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดสมอง รพ.สามารถเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองมารักษาให้กับผู้ป่วยได้ การเปิดบริการล้างไตให้กับผู้ป่วย รวมถึงการออกหน่วยแพทย์เพื่อผ่าตัดตาต้อกระจกในถิ่นทุรกันดาร หากเป็น รพ.รัฐทั่วไปจะเป็นเรื่องใหญ่มาก ต้องทำเรื่องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขออนุมัติขนย้ายเครื่องมือและบุคลากร แต่ รพ.บ้านแพ้วทำได้โดยขออนุมัติบอร์ดเท่านั้น พร้อมกับกำหนดอัตราค่าตอบแทนเหมาะสมให้กับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ได้ ไม่ต้องอิงหลักเกณฑ์ สธ. แต่อิงราคากลไกตลาด ทั้งยังจ่ายค่าตอบแทนภาระงานเพื่อแรงจูงใจ ทำให้เกิดประสิทธิภาพการบริการ ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดีและรวดเร็ว อย่างการผ่าตัดตาต้อกระจก ผู้ป่วย รพ.บ้านแพ้วจะรอคิวผ่าตัดไม่เกิน 1 เดือน ขณะที่ รพ.อื่นรอคิว 6 เดือนถึง 1 ปี

ที่มาของงบดำเนินกิจการ รพ.บ้านแพ้ว หลังจากที่ออกนอกระบบแล้ว ?

นพ.พรเทพ : เป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก เดิมทั้งงบเงินเดือน งบดำเนินการ รัฐต้องสนับสนุนทั้งหมด แต่หลังเป็นองค์กรมหาชนทำให้ต้องหารายได้เอง ทำให้รัฐจะประหยัดงบประมาณไม่ต้องจ่ายเงินสนับสนุนอย่างในอดีต แต่ รพ.บ้านแพ้วยังคงต้องดำเนินงานตอบสนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุขอยู่ เพราะเรายังคงเป็น รพ.รัฐ ดังนั้นรัฐบาลจึงเหมือนได้ รพ.แห่งหนึ่งมาฟรี โดยไม่ต้องลงทุน 

สำหรับงบดำเนินการ รพ.บ้านแพ้ว ส่วนหนึ่งมาจากงบเหมาจ่ายรายหัวดูแลผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 80,000 คน แต่ยังไม่เพียงพอ รพ.จึงต้องหารายได้เพิ่มเติม ทั้งการออกหน่วยรับตรวจสุขภาพ ซึ่ง รพ.บ้านแพ้ว เป็น รพ.ที่รับตรวจสุขภาพให้กับหน่วยงานรัฐเป็นอันดับต้นของประเทศ การจัดหน่วยบริการผ่าตัดตาต้อกระจก และการเปิดสาขาย่อยเพื่อรักษาผู้ป่วย ทั้งที่สาขาพร้อมมิตรและศูนย์ราชการ นอกจากนี้ยังมีเงินบริจาคก่อสร้างอาคารเพื่อให้ รพ.บ้านแพ้วจัดบริการที่ดีให้กับผู้ป่วย

รายได้ รพ.บ้านแพ้วอยู่ที่ 1,600 ล้านบาทต่อปี เมื่อหักรายจ่ายที่ 1,500 ล้านบาท ทำให้มีเงินเหลือไม่มาก เนื่องจาก รพ.บ้านแพ้ว เป็น รพ.รัฐ ไม่สามารถคิดค่ารักษาเท่า รพ.เอกชนได้ ทั้งยังต้องให้บริการประชาชนตามนโยบายรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีน การคัดกรองโรค แต่ก็ยังมีรายได้ที่พอเลี้ยงตนเองได้ โดยทุกคนใน รพ.ต่างต้องปรับตัวและพัฒนา เพื่อทำให้คนไข้เดินเข้ามารับบริการ สร้างรายได้ให้กับ รพ.

ในช่วง 17 ปี หลังออกนอกระบบ รพ.บ้านแพ้วมีการพัฒนาอย่างไร ?

นพ.พรเทพ : ก่อนออกนอกระบบ รพ.บ้านแพ้วเป็นเพียงโรงพยาบาลชุมชน แต่ปัจจุบันขยับเป็น รพ.ทั่วไประดับ S แล้ว มีผู้ป่วยนอกรับบริการ 3,000 คนต่อวัน ดูแลผู้ป่วยใน 300 เตียง และขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมเพื่อขยายการดูแลผู้ป่วยในเพิ่มเป็น 500 เตียง

จากการออกนอกระบบของ รพ.บ้านแพ้ว สะท้อนให้เห็นว่าไม่ได้ทำให้รัฐและ สธ.เสียประโยชน์ แต่กลับได้ประโยชน์มากกว่า ขณะที่ รพ.มีประสิทธิภาพการบริหารมากขึ้น จากการประเมินของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ระบุว่าการออกนอกระบบของ รพ.บ้านแพ้ว สร้างประสิทธิผลได้มากกว่าอยู่ในระบบถึง 10 เท่า และที่สำคัญยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่ได้รับบริการครอบคลุมและรวดเร็ว  

ความเห็นต่อข้อเสนอให้ รพ.สังกัด สธ.ออกนอกระบบ ?

นพ.พรเทพ : ไม่ใช่ทุก รพ.ที่ออกนอกระบบได้ แต่ควรเป็น รพ.ที่มีความพร้อมเท่านั้น ทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่พอจะเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากมาย มีบุคลากร รพ.ที่มุ่งมั่นและตั้งใจที่ออกนอกระบบ โดยเฉพาะผู้บริหารที่ต้องมีศักยภาพบุกเบิก นอกจากนี้ยังต้องมีชุมชนที่เข้มแข็งและพร้อมให้การสนับสนุนให้ รพ.ออกนอกระบบ ซึ่งการออกนอกระบบของ รพ.เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ส่วนตัวมองว่า ไม่แน่ใจว่าจะมี รพ.ถึง 10 แห่งหรือไม่ ที่พร้อมออกนอกระบบได้ โดย รพ.ต้องประเมินตัวเองให้ดี    

หาก รพ.รัฐ ออกนอกระบบหลายแห่งจะเกิดการแข่งขันหารายได้กันเอง รวมถึง รพ.บ้านแพ้วหรือไม่ ?

นพ.พรเทพ : เชื่อว่า รพ.ที่ออกนอกระบบจะมีการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ และคงไม่อยู่ใกล้กันจนเกินไป หากเป็นแบบนี้คงไม่ส่งผลกระทบ แต่ตรงข้ามชาวบ้านในพื้นที่น่าจะได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันยังเกิดการเรียนรู้การพัฒนาและปรับตัวของ รพ.ออกนอกระบบในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามหากมี รพ.ออกนอกระบบจำนวนมาก รพ.เอกชนน่าจะได้รับผลกระทบ เพราะทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกเพิ่มขึ้น

ทิศทางการดำเนินงานของ รพ.บ้านแพ้วในอนาคต?

นพ.พรเทพ : วันนี้ รพ.บ้านแพ้ว ได้สร้างความเชื่อมั่นการบริหารและบริการ และจากผลงาน 17 ปี ทำให้เชื่อว่าการบริหารจัดการ รพ.บ้านแพ้ว หลังออกนอกระบบเดินมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว แต่ยังมีโจทย์ที่ท้าทายหลังจากนี้ โดยเฉพาะการจำกัดงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของรัฐ แต่จะคงคุณภาพการรักษาและบริการที่ดีเหมือนเดิมได้อย่างไร ซึ่ง รพ.คงต้องวางแนวทางเพื่อหาแหล่งรายได้ใหม่เพิ่มเติม อย่างเมดิคัลฮับ การเปิดรักษาผู้ป่วยต่างชาติจากการเปิดเออีซี หรือการจัดบริการเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาภาครัฐ อย่างการจัดบริการรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยเป็นบริการที่ดีได้มาตรฐาน แต่ราคาไม่สูงเกินไป เชื่อว่าจะทำให้ รพ.บ้านแพ้วเดินหน้ารุดหน้าต่อไปได้