ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ.เผย สธ.มีกลไกต่อรองราคายากับบริษัทกิลิแอดซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรยา Sofosbuvir รักษาไวรัสตับอักเสบซี จาก 980,000 บ./ขวด หากสามารถต่อรองราคาให้มาอยู่ที่ 17,500-35,000 บ.ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะได้ใช้ยา Sofosbuvir แทนตัวยาเดิมที่ใช้อยู่ ส่วนปัญหาตรวจคัดกรอง สธ.จะคุยกับ สปสช.ให้จัดการเรื่องค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุมการตรวจคัดกรอง หลังจากก่อนหน้านี้หน่สยบริการต้องรับผิดชอบเองในรายที่ตรวจคัดกรองแล้วไม่พบเชื้อ

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ณ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทยกว่า 100 คนและภาคีเครือข่าย เข้าพบ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้ สธ.ประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing -CL) กับยากลุ่ม DAA (Direct Antiviral) ซึ่งเป็นยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโดยตรง เช่น ยา Sofosbuvir ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดสูง รวมถึงเร่งหามาตรการเพื่อให้หน่วยบริการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซีให้กับ ผู้ที่มีความเสี่ยง เนื่องจากหน่วยบริการไม่สามารถตรวจคัดกรองได้ทุกราย เพราะค่าใช้จ่ายสูง

นพ.โสภณ กล่าวภายหลังรับข้อเสนอว่า สธ.ให้ความสำคัญต่อกรณีการเข้าถึงการรักษาไวรัสตับอักเสบซีของประชาชน ทั้งนี้ เห็นปัญหาการเข้าไม่ถึงการรักษาอันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรอง ซึ่งตัวเลขอยู่ที่ 7,300 บาท/รายนั้นค่อนข้างสูง ประกอบกับการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เหมาจ่ายค่าตรวจคัดกรองไปกับการรักษา ทำให้หน่วยบริการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในรายที่ตรวจคัดกรองแล้วไม่พบเชื้อ ไวรัสหรือไม่ถึงเกณฑ์การรักษา หน่วยบริการส่วนใหญ่จึงไม่อยากตรวจคัดกรอง กรณีนี้ สธ.จะรับไปคุยกับ สปสช.ให้จัดการเรื่องค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุมการตรวจคัดกรอง นอกจากนี้ สธ.จะประสานองค์การเภสัชกรรมเพื่อหาแนวทางให้น้ำยาที่ใช้ตรวจคัดกรองมีราคาถูกลง

สำหรับกรณียารักษาไวรัสตับอักเสบซีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ Peg-interferon ซึ่งใช้ร่วมกับยา Ribavirin ซึ่งมีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยค่อนข้างมาก เช่น ผมร่วง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดเมื่อยตามตัว ทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งหยุดยาเพราะทนต่อผลข้างเคียงไม่ไหวและทางเครือข่ายมี ข้อเสนอให้ สธ.ใช้ยากลุ่ม DAA เช่น Sofosbuvir แทนนั้น

สธ.เองไม่ได้นิ่งนอนใจ ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีกระบวนการพิสูจน์ยืนยันแล้วว่า Sofosbuvir เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงจริง ส่วนปัญหาราคายาดังกล่าวยังมีราคาแพงมาก คือ 28,000 ดอลล่าร์สหรัฐ/ขวด เป็นเงินไทยประมาณ 980,000 บาท และหากรักษาครบคอร์สให้หายขาดต้องใช้ยา 3 ขวด เป็นเงิน 2,940,000 บาทต่อผู้ป่วยหนึ่งรายนั้น สธ.เองมีกลไกในการเจรจาต่อรองราคายากับบริษัทกิลิแอดซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรยา Sofosbuvir หากสามารถต่อรองราคาให้มาอยู่ที่ 500-1,000 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 17,500-35,000 บาท ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะได้ใช้ยา Sofosbuvir แทนตัวยาเดิมที่ใช้อยู่

อีกประการหนึ่งคือขณะนี้มียาในกลุ่ม DAA เข้ามาขึ้นทะเบียนยากับ อย.แล้ว 4 รายการจากเดิมที่มีเพียง 2 รายการซึ่งคิดว่าน่าจะเพียงพอต่อการนำยาตัวใหม่มาใช้แทนยาตัวเดิม ทั้งนี้ สธ.จะมีการพิจารณานำยาที่มาขึ้นทะเบียนไว้เข้าสู่บัญชียาหลักในวันที่ 4 สิงหาคม 2559 ขอให้เครือข่ายฯ ไม่ต้องเป็นห่วง อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน สธ.ยินดีทำ

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนพี่น้องผู้ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นไวรัส ตับอักเสบซีขอขอบคุณ สธ.ที่มีแนวทาง มาตรการที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาไวรัสตับอักเสบซีที่มีมาตรฐาน อยากให้ สธ.พิจารณาแนวทางในการประกาศใช้ CL หากว่ามาตรการอื่นๆ ที่ลองทำมาแล้วไม่ได้ผล เช่น การเจรจาต่อรองราคายาที่ต้องใช้เวลายืดเยื้อ ในขณะที่ผู้ป่วยเองอาจรอไม่ได้ และขณะนี้ก็มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีหลายรายเสียชีวิตแล้วจากมะเร็งตับ หาก สธ.ประกาศใช้ CL ก็จะเป็นการกดดันให้บริษัทกิลิแอดลดราคายา Sofosbuvir

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า หากไม่มีแนวทางใดๆ ที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงยา Sofosbuvir แล้วอยากให้ สธ.รับปากว่าจะทำ CL รวมถึงเสนอว่า สธ.ควรเป็นเจ้าภาพเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านตับมาหารือเพื่อช่วยกันคิดค้น หาแนวทางในการตรวจคัดกรองและรักษาไวรัสตับอักเสบซีที่ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมประชากรทุกคน

ขอบคุณข่าวจาก www.thaiplus.net (เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย)