ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ สธ. ส่อเค้าวุ่น พบบาง รพ.เรียกดูพาสสปอร์ต-หลักฐานจ้างงาน ทั้งที่นโยบายรัฐกำหนดไม่ต้องเรียกดูเอกสารใด เพราะเป็นกลุ่มไม่มีเอกสาร แต่รัฐต้องการให้มีประกันสุขภาพ จึงเปิดโอกาสให้ซื้อได้ หวั่นกระทบงานป้องกันและควบคุมโรคโรคประเทศ จี้ สธ.แก้ไขด่วน

นายเสถียร ทันพรม ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าวถึงปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของแรงงานข้ามชาติว่า ในส่วนบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวโดยกระทรวงสาธารณสุข โดยมีประกาศ 2 ฉบับพร้อมกัน คือ ประกาศฉบับที่ 1 ให้แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองโดยถูกต้องจะต้องมีหลักประกันสุขภาพคุ้มครอง โดยแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ ซึ่งอยู่ในระบบ one stop service ในการรับการขึ้นทะเบียน

ประกาศฉบับที่ 2 สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีการรับรองและคนต่างด้าวซึ่งไม่ใช่คนไทย สามารถเดินเข้าไปยัง รพ.สังกัด สธ.และ รพ.เอกชนที่เข้าร่วม เพื่อซื้อบัตรประกันสุขภาพได้ โดยเป็นประกาศออกเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2556 ซึ่งต้องขอชื่นชมกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการเพื่อให้ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยมีหลักประกันสุขภาพ แต่พบว่ามีปัญหาที่ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจนิยามแรงงานข้ามชาติไม่เหมือนกัน รวมถึงแนวทางปฏิบัติส่งผลให้เกิดปัญหาการเข้าถึง

“จากการเก็บข้อมูลใน 7 จังหวัด ปัญหาที่พบคือ มีความไม่เข้าใจในนิยามแรงงานข้ามชาติ ทำให้มีการขายบัตรประกันสุขภาพให้กับผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ์แทน ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการเปิดขายให้กับแรงงานข้ามชาติ เพราะผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ์เป็นกลุ่มที่มีหลักประกันสุขภาพอยู่แล้ว จึงควรที่จะยืนยันสิทธิที่มีแต่ต้น ไม่ใช่ใช้วิธีการซื้อบัตรประกันสุขภาพแทน ยังมีปัญหาบาง รพ.ยังเรียกขอเอกสารทั้งพาสสปอร์ต และหลักฐานการทำงาน ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ได้เปิดขายบัตรหลักประกันสุขภาพนี้ ซึ่งนโยบายรัฐกำหนดว่าไม่ต้องเรียกดูเอกสารใด เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มไม่มีเอกสาร แต่รัฐต้องการให้มีประกันสุขภาพเพื่อการป้องกันควบคุมโรคทำได้ง่าย จึงเปิดโอกาสให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพได้ การที่บาง รพ.ยังเรียกดูเอกสารนี้ ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่มีหลักประกันสุขภาพเพื่อคุ้มครอง” ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ  กล่าว

นายเสถียร กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันในพื้นที่ กทม.ก็ยังมีปัญหาการเข้าถึงการรักษา เพราะในการซื้อบัตรประกันสุขภาพนั้น บางส่วนนายจ้างเป็นผู้จัดซื้อให้ และมักจะจัดซื้อกับ รพ.ขนาดใหญ่และ รพ.เอกชน แต่ในการใช้บริการปรากฎว่า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จะใช้บริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โดยจ่ายเงินเองทั้งที่มีบัตรประกันสุขภาพแล้ว ซึ่งสาเหตุนอกจากปัญหารอคิวแล้ว รพ.ที่มีสิทธิ์ยังอยู่ไกลจากที่ทำงานและที่อยู่อาศัย ทำให้คนเหล่านี้ไม่ได้ใช้สิทธิ์ ดังนั้นจึงควรมีการจัดระบบการเบิกจ่ายในหน่วยปฐมภูมิเช่นเดียวกับ รพ.สต.ในต่างจังหวัดที่จะเบิกจ่ายกับ รพ.เอง โดยที่แรงงานข้ามชาติไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

นายเสถียร กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นข้างต้นไม่ได้ส่งผลต่อเฉพาะตัวแรงงานข้ามชาติเท่านั้น แต่ยังกระทบต่องานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทำให้มีแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งหายไปจากระบบ ซึ่งอาจส่งผลต่อการควบคุมโรคในประเทศได้ เนื่องจากบางคนอยู่ในระหว่างรับยาวัณโรคต่อเนื่องและบางคนต้องรับยาต้านไวรัสเอชไอวี

“นโยบายภาครัฐต้องการให้ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติ ทำให้เจตนารมณ์นี้ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานหลักซึ่งดูแลด้านการรักษาพยาบาล ควรเร่งแก้ไขในเรื่องนี้โดยด่วน” นายเสถียร กล่าว