ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เอ็นจีโอชี้ “ระนอง” คือจังหวัดต้นแบบบริหารจัดการด้านสุขภาพให้แรงงานต่างด้าว ชี้ปัจจัยความสำเร็จมาจาก สสจ.ให้ความสำคัญทุกภาคส่วน และมี อสม.ช่วยดูแลในพื้นที่

นางสาวฐิติยา สามารถ ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิศุภนิมิตรแห่งประเทศไทย จ.ระนอง ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่ทำงานด้านแรงงานต่างด้าวใน จ.ระนอง เปิดเผยถึงการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของแรงงานต่างด้าวใน จ.ระนอง ว่า ในปี 2558 จำนวนแรงงานต่างด้าวที่มาลงทะเบียนกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดระนองนั้น มีประมาณ 50,000 คน ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำงานแรงงานคาดว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวที่มาลงทะเบียนน่าจะมีมากกว่านี้

อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ของมูลนิธิศุภนิมิตร พบว่าปีนี้มีแรงงานเข้ามาที่ จ.ระนองมากกว่าเดิม แต่แรงงานที่เข้ามานั้น มาเพื่อผ่านไปทำงานที่จังหวัดอื่น เช่น กทม. ภูเก็ต สุราษฏร์ธานี   

นางสาวฐิติยา กล่าวว่า ในพื้นที่ จ.ระนองนั้น ถือว่าเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีการบริหารจัดการเพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้เข้าถึงบริการสุขภาพ เพราะสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง ได้เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวซื้อบัตรประกันสุขภาพ ราคา 1,200 บาทต่อคน ในส่วนของผู้ใหญ่ และขอให้ผู้ปกครองที่เป็นแรงงานต่างด้าวของเด็กแรกเกิดทุกรายซื้อบัตรประกันสุขภาพเด็กในราคา 365 บาทต่อคน ทำให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามได้รับบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง และทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนองได้รณรงค์เพื่อจูงใจให้แรงงานต่างด้าวซื้อบัตรประกันสุขภาพ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกระจายข่าวในพื้นที่ด้วย

“แต่ปัญหาคือแรงงานต่างด้าวผู้ใหญ่ไปบัตรประกันสุขภาพซื้อน้อยมาก เราเคยสอบถามว่าทำไมไม่ยอมไปซื้อ ก็ได้คำตอบว่าเขาคิดว่าไม่คุ้มค่า เพราะไม่ค่อยเจ็บป่วย ปีนึงเจ็บป่วยเล็กน้อย เป็นไข้แค่ 2-3 ครั้ง ไปซื้อยาจากรายขายยาก็ได้ จึงไม่เห็นความสำคัญของการซื้อประกันสุขภาพ ส่วนกรณีเด็กแรกเกิดนั้น หากเป็นเด็กที่เกิดในโรงพยาบาลจังหวัดระนอง ทางโรงพยาบาลก็จะบังคับซื้อบัตร ซึ่งผู้ปกครองจะชอบ เพราะเด็กแรกเกิดนั้นต้องได้รับวัคซีน และดูแลต่อเนื่อง คิดแล้วคุ้มค่ากว่า” นางสาวฐิติยา กล่าว

นางสาวฐิติยา กล่าวว่า บุคคลที่สำคัญมากในการดูแลแรงงานต่างด้าวในชุมชน คือ อสม. เพราะเป็นผู้ที่อยู่ในชุมชนใกล้ชิดแรงงานมาก ทางจังหวัดระนองได้สนับสนุนให้ อสม.ไทยเป็นที่ปรึกษา และช่วยพัฒนาศักยภาพการทำงานของอาสามสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับบริการสาธารณสุขที่ควรได้รับ และช่วยกันส่งเสริมป้องกันโรคในชุมชน เช่น การป้องกันโรคไข้เลือดออก การกำจัดลูกน้ำยุงลาย ที่ต้องทำงานคู่กัน เพื่อให้การป้องกันโรคครอบคลุมไปทั้งพื้นที่ นอกจากนี้ ทหาร ตำรวจ ควรเข้ามาช่วยดูแล แต่ต้องไม่ใช่การบังคับขู่เข็ญโดยใช้กฎหมายเป็นหลัก แต่ควรเปลี่ยนบทบาทเป็นการให้คำแนะนำในการใช้ชีวิตในเมืองไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นางสาวฐิติยา กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ระนองประสบความสำเร็จในการจัดการเรื่องสุขภาพของแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นจังหวัดเล็กๆ มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีแรงงานต่างด้าวผ่านเข้ามา คือการจัดระบบการเข้าถึงบริการด้วยการใช้ระบบส่งต่อคล้ายๆ กับระบบหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) คือ เมื่อเจ็บป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ก่อน หากเกินศักยภาพจะส่งต่อไปโรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลจังหวัด ตามลำดับ เพราะแรงงานจะเข้าถึงหน่วยบริการได้ง่าย และเป็นการเฝ้าระวังโรคระบาดในชุมชนได้ด้วย 

“แรงงานต่างด้าวที่จังหวัดระนองโชคดีที่มีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นเจ้าภาพหลัก และมีคณะกรรมการที่ดูแลด้านนี้ในระดับจังหวัดโดยเฉพาะ คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย ตัวแทนจากโรงพยาบาลทุกระดับ หัวหน้าส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และเอ็นจีโอก็ได้รับโอกาสให้เข้าไปสะท้อนปัญหาให้ได้ทราบ เป็นการให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ในส่วนของเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าวทุกด้านนั้นก็มีผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง หน่วยงานด้านสาธารณสุขในจังหวัด และเอ็นโอจี ช่วยกันทำงานควบคู่กันไปทั้งระบบ สามารถเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ นำไปจัดการเพื่อดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าวได้” นางสาวฐิติยา กล่าว.