ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ.มอบนโยบายขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิ “คลินิกหมอครอบครัว” เขตเมืองเพิ่มหน่วยบริการให้ประชาชนเข้าถึงง่าย เขตชนบทเพิ่มแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ทำงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ เตรียมแผนผลิตกำลังคนรองรับ ระยะกลาง-ยาว ผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวปีละ 600 คน ระยะสั้น ใช้แพทย์ที่เกษียณมาอบรมเพิ่ม ส่วนวิชาชีพอื่นมีหลักสูตรเวชปฏิบัติครอบครัว พร้อมปรับค่าตอบแทนให้อยู่ในระบบ

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ที่ จ.ขอนแก่น นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขสัญจร ครั้งที่ 3/2559 โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กว่า 500 คนเข้าร่วมประชุม พร้อมมอบนโยบายการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ “คลินิกหมอครอบครัว” ว่า รมว.สาธารณสุขมอบให้เร่งรัดพัฒนาระบบบริการ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำด้านบริการสุขภาพ โดยเฉพาะบริการปฐมภูมิ  ซึ่งในเขตเมืองการเข้าถึงบริการในโรคพื้นฐานทั่วไปยากลำบาก เนื่องจากมีโรงพยาบาลประจำจังหวัดขนาดใหญ่ 1-2 แห่ง ที่ให้บริการประชาชน ทั้งบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และรับส่งต่อผู้ป่วยโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนจากเครือข่ายบริการทุกระดับ ทำให้มีความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ จึงได้เกิดนโยบาย การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ “คลินิกหมอครอบครัว” สำหรับเขตเมืองเกิดขึ้น

สำหรับเขตชนบท ได้เพิ่มบริการด้านการรักษาพยาบาลไปยังบริการปฐมภูมิ โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมกันเป็นเครือข่ายบริการระดับปฐมภูมิ (Primary Care Cluster) เพิ่มแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวเข้าไปเติมเต็ม ทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพที่มีอยู่ทั้งหมดในระบบ อาทิ หมออนามัย พยาบาล ทันตาภิบาล เป็นต้น และอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนในเขตชนบทได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสถานบริการใกล้บ้านใกล้ใจ ที่ให้บริการแบบองค์รวม ครบทุกมิติ เติมเต็มบริการให้ประชาชน ตั้งเป้าภายใน 10 ปี คนไทยทุกคนจะมีหมอประจำครอบครัว ด้วยบริการ “ทุกคน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี”

ทั้งนี้ แผนการผลิตกำลังคนเพื่อรองรับนโยบาย “คลินิกหมอครอบครัว” นั้น มีการดำเนินการดังนี้ 

1.จะร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว การผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว โดยใช้ศูนย์แพทย์ศาสตร์ชั้นคลินิกของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นฐานการผลิต โดยเป้าหมายจะสามารถผลิตได้ปีละ 600 คน เป็นแผนระยะกลาง ระยะยาว  

2.แผนระยะสั้น จะใช้แพทย์ที่เกษียณอายุราชการ หรือแพทย์ที่สนใจงานด้านเวชศาสตร์ครอบครัว มารับการอบรมเพิ่มหลักสูตร 3-6 เดือน 

3.สหสาขาวิชาชีพอื่นๆ ที่จำเป็น อาทิ พยาบาล หมออนามัย จะมีหลักสูตรสาขาเวชปฏิบัติครอบครัวให้เข้ารับการอบรม โดยจะปรับให้มีระบบสร้างจูงใจและค่าตอบแทนให้คนคงอยู่ในระบบ

สำหรับบริการทุกคน คือ ประชาชน 10,000 คนของทีมหมอครอบครัว ทั้งคนปกติไม่เจ็บไม่ป่วย คนกลุ่มเสี่ยงต่อโรคต่างๆ คนป่วยแล้ว คนที่ต้องฟื้นฟูสมรรถภาพ จะได้รับการดูแลทุกคน บริการทุกอย่าง คือการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานทั้งหมด ให้สุขภาพดี ดูแลเมื่อเจ็บป่วย ถ้าจำเป็นก็จะส่งต่อไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น แบบองค์รวม ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม บริการทุกที่ คือ จะทำงานทั้งในที่ทำการและที่บ้านของประชาชน ด้วยการออกเยี่ยมบ้าน บริการทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี ประชาชนสามารถติดต่อ ปรึกษา ทีมหมอประจำครอบครัวได้ทางโทรศัพท์หรือโซเชียลมีเดีย เมื่อมีปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วย