ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ลงนามความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก ติดตั้งระบบติดตามรถพยาบาลผ่านดาวเทียม (GPS) เชื่อมโยงข้อมูลระบบแสดงพิกัด ความเร็วรถพยาบาล กรณีมีผู้ป่วยบนรถต้องกำจัดความเร็วที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ตรวจสอบตำแหน่ง ติดตาม ควบคุมความเร็วแบบ Real time ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของรถพยาบาล

วันนี้ (4 สิงหาคม 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการพฤติกรรมการขับขี่ และยกระดับมาตรฐานการขับรถให้ปลอดภัย ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีการแก้ไขปัญหา การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สิน รวมทั้งผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

นพ.โสภณ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลระบบแสดงพิกัด และความเร็วของรถพยาบาลเข้ากับศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก GPS ของกรมการขนส่งทางบก ให้สามารถดูพิกัด การเคลื่อนที่ และความเร็วได้ทันทีแบบ Real time แสดงสถานะของพนักงานขับรถ เป็นรถของโรงพยาบาลใด การแสดงผลข้อมูลขับรถเร็วกว่ากำหนดหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานการขับรถให้ปลอดภัย สร้างความปลอดภัยแก่ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ญาติผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่บนรถพยาบาลและระหว่างปฏิบัติหน้าที่ 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยรถพยาบาล โดยรถพยาบาลทุกคันจะต้องมีโครงสร้างตัวถังรถที่แข็งแรง ติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยตามเกณฑ์ เช่น เข็มขัดประจำที่นั่งของญาติผู้ป่วย บุคลากรทางแพทย์ ติดตั้งระบบติดตามรถผ่านดาวเทียม (GPS) เพื่อติดตามตำแหน่ง ควบคุมความเร็ว ระบบสื่อสารสัญญาณภาพผ่านกล้อง CCTV ในการติดตามพฤติกรรมการขับรถ และอาการผู้ป่วยเพื่อช่วยเตรียมการรักษาพยาบาล พร้อมทั้งการทำประกันภัยรถพยาบาลประเภท 1 กรณีเกิดอุบัติเหตุ ให้มีการคุ้มครอง ทั้งผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและบุคลากรในรถ เพื่อให้เกิดความคุ้มครองขั้นพื้นฐาน

สำหรับพนักงานขับรถพยาบาล จะมีคุณลักษณะพิเศษเพิ่มเติม ได้แก่

1.ก่อนขับรถจะมีการตรวจแอลกอฮอล์จากลมหายใจต้องเป็น 0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ทุกครั้ง

2.การตรวจสอบหาสารเสพติดปีละ 2 ครั้ง

3.การทดสอบสุขภาพจิต ปีละ 1 ครั้ง

4. จะต้องไม่ขับรถเกิน 4 ชั่วโมง และมีเวลาพักระหว่างทาง

และ 5. ต้องผ่านการอบรมเพิ่มทักษะและประสบการณ์ การขับรถพยาบาลการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้น และสถานการณ์จำลองต่างๆ

รวมทั้งมีวินัยการขับรถ กรณีมีผู้ป่วยบนรถต้องกำจัดความเร็วที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือไม่เกินที่กฎหมายกำหนด โดยยึดกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และถือปฏิบัติการขับขี่ปลอดภัย(Safety Driving) ตลอดเวลา

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการรวบรวมสถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 – กรกฎาคม 2559 พบว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้น 60 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 11 คน บาดเจ็บ 114 คน เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะมีการดำเนินการสอบสวนสาเหตุของกรมควบคุมโรค เพื่อส่งไปยังผู้ตรวจราชการฯ และรายงานมายังผู้บริหารส่วนกลางทุกเดือน