ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอทวีเกียรติ” อดีตผู้ตรวจฯ สธ.หนุนนโยบายคลินิกหมอครอบครัว ชี้ทิศทางที่ สธ.ดำเนินการคือพัฒนาปฐมภูมิเขตเมืองแล้วค่อยขยายไปในเขตชนบทนั้นเดินมาถูกทางแล้ว แนะเพิ่มค่าตอบแทนดึงดูดให้คนเรียนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมากขึ้น

นพ.ทวีเกียรติ บุญยไพศาลเจริญ

นพ.ทวีเกียรติ บุญยไพศาลเจริญ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความเห็นถึงนโยบายการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิ คลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster) ที่ สธ.ประกาศไปเมื่อเร็วๆ นี้ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนอย่างยิ่ง ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนแพทย์เพียงพอที่จะดำเนินนโยบายนี้ได้แล้ว โดยมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรประมาณ 1:2,000 แต่หากตัดแพทย์เฉพาะทางออก สัดส่วนก็น่าจะอยู่ที่ 1:5,000 ได้สบาย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการเริ่มต้น อาจตั้งเป้าที่ 1:10,000 โดยเริ่มพัฒนาสถานบริการในเมืองก่อน ยกระดับอนามัยในเขตเมืองเป็นคลินิกหมอครอบครัว แล้วค่อยๆ ขยายไปในเขตชนบท ซึ่งก็เป็นทิศทางที่ สธ.กำลังดำเนินการอยู่แล้ว

“โดยทั่วไประบบบริการแยกเป็นปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ซึ่งทุติยภูมิในยุโรป ความหมายคือการดูแลในโรงพยาบาลโดยแพทย์เฉพาะทาง ส่วนปฐมภูมิคือการดูแลโดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว จริงๆ แล้ว ระดับปฐมภูมิก็ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง คือเชี่ยวชาญในชุมชน ส่วนทุติยภูมิเชี่ยวชาญในโรงพยาบาล ถ้าในโรงพยาบาลก็หมอสูติ หมอศัลย์ หมอเด็กฯลฯ ส่วนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคือเชี่ยวชาญการดูแลคน ไม่ได้ดูแลโรค แต่ดูแลคนตั้งแต่ก่อนป่วยว่าทำอย่างไรป้องกันไม่ให้ป่วย บ้านเราเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และประกาศนโยบายชัดว่าทำจากเขตเมืองก่อน แล้วค่อยๆ ขยาย เพราะทำทีเดียวทั้งประเทศคงไม่ได้” นพ.ทวีเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงจำนวนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในขณะนี้ยังมีไม่พอ เนื่องจากคนไม่นิยมเรียน ส่วนใหญ่นิยมเรียนไปเป็นแพทย์เฉพาะทาง

“แต่ถ้าสธ.เห็นว่ามันสำคัญ ก็ให้ค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษเดือนละ 2-3 หมื่นบาทก็ว่าไป คนก็จะมาเรียนมากขึ้น แพทย์ก็น่าจะพอ ตอนนี้เราผลิตแพทย์ปีละ 3,000 คน แต่เป็นแพทย์เฉพาะทางปีละ1,500 คน อีกครึ่งจะไปไหน ก็มาเป็นหมอครอบครัว” นพ.ทวีเกียรติ กล่าว

นพ.ทวีเกียรติ กล่าวอีกว่า เงินค่าตอบแทนที่เพิ่มให้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวไม่น่าจะเพิ่มภาระด้านการเงินการคลังมาก เพราะเงิน พ.ต.ส. ก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่เกลี่ยงบให้กระจายกันใหม่ ตอนนี้เงิน พ.ต.ส.ได้ 1 หมื่น ก็อาจเพิ่มเป็น 2 - 2.5 หมื่นบาท ก็อาจจะให้คนสนใจมาเป็นหมอครอบครัวมากขึ้น

นอกจากนี้ อาจให้แพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนทำหน้าที่นี้ก็ได้ โดยอาจมีข้อแม้ว่าถ้ารับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ก็ต้องทำหน้าที่เป็นหมอครอบครัวด้วย แบบนี้ไม่ต้องเพิ่มอะไรเลย