ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการอํานวยการฯ Medical and Wellness Tourism เตรียมเสนอกระทรวงการคลังขอสนับสนุนงบประมาณที่ได้รับจากการจัดเก็บค่าวีซ่า พร้อมหาแนวทางพัฒนาระบบประกันอุบัติเหตุสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย พร้อมหาแนวทางพัฒนาระบบประกันอุบัติเหตุสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในกลุ่มที่ใช้หนังสือเดินทางธรรมดาทุกคน เผยที่ผ่านมาไม่สามารถเก็บค่าใช้จ่ายการรักษาจากชาวต่างชาติได้ปีละกว่า 300 ล้านบาท

วันนี้ (10 สิงหาคม 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนางกอบกาญจน์ สุริยสัตย์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประชุมคณะกรรมการอํานวยการพัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้าน Medical and Wellness Tourism ครั้งที่ 6/2559

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ได้ร่วมกันดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ (Medical Hub) มุ่งหวังให้นักท่องเที่ยวได้รับการดูแลสุขภาพที่ดี โดยไม่กระทบต่อการบริการประชาชนไทย

ที่ผ่านมา โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสบปัญหาไม่สามารถเก็บค่ารักษาพยาบาลจากชาวต่างชาติได้เป็นจำนวนมาก ปีละประมาณ 300 ล้านบาท ในวันนี้ที่ประชุม ได้มอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จัดทำข้อเสนอเพื่อหารือกระทรวงการคลัง ในการจัดระบบบริการนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกรณีประสบอุบัติเหตุ โดยขอจัดสรรงบประมาณจากที่ได้รับจากการจัดเก็บค่าวีซ่าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองนำส่ง มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละประมาณ 300 ล้านบาท โดยมีกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่พัฒนาระบบการรักษาพยาบาลชาวต่างชาติ พร้อมหาแนวทางพัฒนาระบบประกันอุบัติเหตุสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในกลุ่มที่ใช้หนังสือเดินทางธรรมดา (Ordinary Passport) ทุกคน เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว จะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติในหลักการต่อไป

นอกจากนี้ ได้มอบให้กระทรวงการต่างประเทศ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประชาสัมพันธ์การจัดทำแพคเกจพิเศษด้านสุขภาพไปยังกลุ่มประเทศเป้าหมาย 2 ชุด ได้แก่ ด้านทันตกรรมและการตรวจสุขภาพสำหรับ 5 ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ได้แก่ สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ เฉพาะผู้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวหรือชั่วคราว ดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม – ธันวาคม 2559 และด้านการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์รองรับผู้รับบริการชาวต่างชาติ เพื่อรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยาก โดยเฉพาะประเทศจีน