ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ ครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บและญาติ เพื่อประเมินภาวะสุขภาพจิต ปฐมพยาบาลจิตใจ สร้างแรงใจให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปป้องกันการเกิดบาดแผลทางจิตใจในระยะยาว ส่วนผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ยังนอนรักษาในโรงพยาบาล 16คน เป็นคนไทย 10 คน ต่างชาติ 6 คน อยู่ในความดูแลแพทย์อย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2559 เวลา 16.00 น. นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วอร์รูมกระทรวงสาธารณสุข สรุปผลการดำเนินการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากเหตุระเบิดและไฟไหม้ ขณะนี้ มีผู้บาดเจ็บนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล รวม 16 คน คนไทย 10 คน ต่างชาติ 6 คน โดยนอนพักรักษาในโรงพยาบาลที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 9 คน เพชรบุรี 1 คน(ส่งต่อจากโรงพยาบาลหัวหิน) และตรัง 6 คน ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด

โดยในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ให้กรมสุขภาพจิต ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัย (MCATT: Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) ลงพื้นที่ดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรง ที่จังหวัดตรังและประจวบคีรีขันธ์ เพื่อประเมินภาวะสุขภาพจิต ปฐมพยาบาลจิตใจ ให้กำลังใจ เยียวยาจิตใจและให้การปรึกษาลดภาวะความเครียด สร้างแรงใจให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ ป้องกันการเกิดบาดแผลทางจิตใจในระยะยาว

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การดูแลในครั้งนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บและญาติ และชาวต่างประเทศ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในสถานที่สาธารณะ และเป็นการกระทำของมนุษย์ ส่งผลกระทบด้านจิตใจสูงกว่าเหตุที่มาจากภัยธรรมชาติ ผู้ที่อยู่ใกล้เหตุการณ์จะเกิดอาการวิตกกังวล ใจสั่น นอนไม่หลับ หวาดระแวง ไม่กล้าออกไปใช้ชีวิตตามปกติ ตกใจง่าย การปรับตัวของผู้ได้รับผลกระทบจะแตกต่างกันไปตามสภาพจิตใจ และประสบการณ์เดิม อาจใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หรืออย่างน้อย 1 เดือน  

ส่วนครอบครัวผู้สูญเสีย ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าได้ วิธีก้าวผ่านวิกฤตที่เกิดขึ้น ขอให้ยึดหลัก 4 อย่า คือ

1.อย่าจมอยู่กับชีวิตตนเองคนเดียว ยอมรับความสูญเสียและอยู่กับความจริงในปัจจุบันให้ได้ อาจจะเป็นเรื่องยากและต้องใช้ระยะเวลา 

2.อย่าเก็บความรู้สึกเจ็บปวดไว้คนเดียว อาจร้องไห้ และพูดระบายความทุกข์ให้คนใกล้ชิดที่ไว้ใจรับฟังบ้าง เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย 

3.อย่าโทษตนเองหรือคนอื่น เพราะไม่ได้ช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้น

และ 4.อย่าดื่มเหล้าหรือเสพสารเสพติดเพื่อช่วยลืมความเจ็บปวด ควรสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลรอบข้าง ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมดีๆ ในชุมชนหรือสังคม

ทั้งนี้ หากไม่สามารถจัดการอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้หรือมีอาการซึมเศร้ารุนแรง ควรรีบปรึกษาสถานบริการสาธารณสุขที่ใกล้บ้านทันทีเพื่อรับการดูแลรักษาที่ถูกต้องต่อไป หรือโทรรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง ที่สำคัญ ญาติและครอบครัวถือเป็นบุคคลที่จะช่วยสังเกต ดูแล เยียวยาและประคับประคองจิตใจผู้สูญเสียให้ผ่านพ้นความทุกข์ด้วยการรับฟัง ให้กำลังใจ และไม่ตอกย้ำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนสื่อมวลชน สามารถมีส่วนร่วมในการเยียวยาจิตใจครอบครัวที่ต้องประสบกับความสูญเสียได้ โดยเลือกใช้คำถามในการสัมภาษณ์ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ระบายความรู้สึก