ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมจัดตั้งคลินิกผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว คลินิกผู้ป่วยที่ได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ครอบคลุมทุกเขตบริการสุขภาพ หลังโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย” ช่วยผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันได้ยาละลายลิ่มเลือดและขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63 ในปี 2556 เป็น 75 ในปี 2559 อัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ10

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 ที่ สถาบันโรคทรวงอก นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดประชุมวิชาการและสรุปผลการดำเนินงานโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases)” ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป/ โรงพยาบาลชุมชน ในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลเอกชนรวม 550 คน

นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคหัวใจ เพื่อตอบสนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ในการลดอัตราเพิ่มการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ จึงได้เร่งรัดการพัฒนาเครือข่ายโรคหัวใจ จัดทำโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases)” มีโรงพยาบาล 359 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ ตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไปในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่เฉียบพลันรุนแรง ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว และผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนคือ มีการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันอย่างทันท่วงที

ผลการดำเนินงานตั้งแต่ตุลาคม 2558 – สิงหาคม 2559 จากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 359 แห่ง มีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวน 16,782 ราย เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลัน  6,553 ราย สามารถเข้าถึงบริการโดยการได้ยาละลายลิ่มเลือด หรือการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63 ในปี 2556 เป็น 75 ในปี 2559 อัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 10 โดยเฉพาะการให้ยาละลายลิ่มเลือดโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลางขึ้นไป ทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ด้าน นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก ได้ดำเนินการโครงการนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยจัดอบรมให้ความรู้ จัดทำคู่มือมาตรฐานการรักษา การอ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การบริหารจัดการข้อมูลระดับประเทศ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับฟังปัญหาอุปสรรคการดำเนินงาน สำหรับการพัฒนาต่อไป มีเป้าหมายเพิ่มการจัดตั้งคลินิกรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว, คลินิกให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ให้ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพรวมทั้งสนับสนุนให้มีการป้องกันและควบคุม ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ เช่น โรคเบาหวาน, ไขมันในเลือด, ความดันโลหิตสูง, การบุหรี่ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป