ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.กำหนดนโยบายแก้ปัญหาพยาบาลขาดแคลนเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน เน้นบรรจุพยาบาล หนุนความก้าวหน้าในวิชาชีพ ลดเหลื่อมล้ำค่าตอบแทน พร้อมผลิตผู้ช่วยพยาบาลเพื่อเพิ่มอัตรากำลังและบรรเทาภาระงาน

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศไทยด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาและยกระดับคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ขยายการให้บริการและเพิ่มขีดความสามารถของสถานพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน ตอบสนองนโยบายรัฐบาลและปัญหาสุขภาพของประชาชน มุ่งสู่เป้าหมาย ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน   

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันภาระงานการบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขมากขึ้น และสาขาที่มีความขาดแคลนอีกสาขาคือ พยาบาลวิชาชีพ ข้อมูลจากสำนักพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2558 มีพยาบาลที่ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นข้าราชการและจ้างงานอื่นๆ จำนวน 118,820 คน โดยปฏิบัติงานสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 109,991 คน เมื่อวิเคราะห์ภาระงานพยาบาลพบว่าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังมีความต้องการพยาบาลอีกจำนวน 36,862 คน เนื่องจากมีอัตราการสูญเสียพยาบาลในแต่ละปีประมาณร้อยละ 4 

ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และได้กำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนพยาบาลเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ต้องมีการดำเนินการเร่งด่วน เน้นด้านการบรรจุพยาบาล การสนับสนุนให้พยาบาลมีความก้าวหน้าในวิชาชีพและสร้างขวัญกำลังใจ ลดความเหลื่อมล้ำเรื่องค่าตอบแทนต่างๆ ตลอดจนกำหนดให้มีการผลิตผู้ช่วยพยาบาลเพื่อเพิ่มอัตรากำลังผสมผสานบรรเทาภาระงานของพยาบาล

ดร.กาญจนา จันทร์ไทย ผู้อำนวยการสำนักการพยาบาล กล่าวว่า การพัฒนางานการพยาบาลของประเทศไทยต้องมีการพัฒนาทั้งที่ตอบเป้าหมายระดับโลก ซึ่งมีเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) และตอบสนองเป้าหมายของประเทศที่กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านสุขภาพระยะ 20 ปี ทั้งนี้ สำนักการพยาบาลได้กำหนดกลไกการพัฒนาคุณภาพงานการพยาบาล มีระบบประกันคุณภาพ (Quality Assurance) เป็นเครื่องมือในการวัดและประเมินคุณภาพ มีการดำเนินงานตามระบบประกันคุณภาพครอบคลุมโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้สำนักการพยาบาลยังได้ขับเคลื่อนการพัฒนางานการพยาบาลในรูปแบบเครือข่ายผู้บริหารการพยาบาลระดับเขต จังหวัด และอำเภอ ปัจจุบันมีเครือข่ายผู้บริหารการพยาบาลกว่า 1,600 คน ที่รวมพลังพัฒนางานการพยาบาล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ระดับโลกและระดับประเทศ ถึงแม้ว่าจำนวนพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขมีไม่เพียงพอต่อภาระงาน แต่การที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนพยาบาล รวมทั้งการผลิตผู้ช่วยพยาบาลจะทำให้ช่วยแบ่งเบาภาระพยาบาล และเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาคุณภาพงานได้