ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ในฐานะกรรมการกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามมติ ครม. 3 มีนาคม 2553 เรื่องการคืนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลมีสถานะและสิทธิ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเวทีเสวนา "สิทธิเข้าถึงหลักประกันสุขภาพเด็กที่ไร้สถานะทางทะเบียน" ว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 เม.ย.58 เรื่องการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเพิ่มเติม โดยในส่วนของเด็กนักเรียนในสถานศึกษาที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนบางส่วน อาทิ กลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มเด็กเยาวชนลูกหลานของชาติพันธุ์ต่างๆ ตามพื้นที่แนวชายแดน จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ได้จัดทำทะเบียนเด็กกลุ่มนี้ โดยมีตัว G นำหน้าเลข 13 หลัก เพื่อให้สิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า "เด็กติด G" ซึ่งมีจำนวน 67,511 คน ซึ่งยังไม่มีการขึ้นทะเบียนสิทธิด้านสาธารณสุข ทั้งหลักประกันสุขภาพและการรักษาที่เป็นชัดเจน จึงเป็นแนวทางต่อเนื่องที่จะขออนุมติให้สิทธิส่วนนี้เพิ่มเติม ซึ่งสามารถใช้ข้อมูลเดียวกันได้ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำการตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันความถูกต้องอีกครั้ง พร้อมรับรองการขึ้นทะเบียนของกลุ่มบุคคลดังกล่าว และให้นำเสนอต่อ ครม.เพื่อมีมติเห็นชอบอีกครั้ง เพราะหลังจากมีมติ ครม.ดังกล่าว จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการนำข้อมูลตรวจสอบเด็กนักเรียนในสถานศึกษาที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนกลุ่มนี้กลับเข้าสู่ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติเพิ่มเติม ซึ่งไม่เพียงกระทบต่อเด็กเท่านั้น ยังทำให้ รพ.ในพื้นที่รับภาระค่ารักษาต่อเนื่อง กระทบงานป้องกันควบคุมโรคในภาพรวมของประเทศด้วย

ด้านนายเฉลียว เถื่อนเภา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะโกล่าง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี กล่าวว่า ในพื้นที่อำเภอสวนผึ้งมีประชากร 50,000 คน ในจำนวนนี้มีประชากรแฝงกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 20,000 คน ส่วนหนึ่งคือ เด็กที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร์ แม้ว่าจะเข้าโรงเรียนในพื้นที่ได้ แต่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกลับมีปัญหา เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจะรักษาและออกค่าใช้จ่ายให้ได้ทุกครั้ง การแก้ปัญหาส่วนตัวคิดว่า ต้องร่วมมือกันตั้งแต่ผู้มีอำนาจจากส่วนกลางที่เกี่ยวข้องที่จะผลักดันแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการขึ้นทะเบียนและให้สิทธิเพิ่มเติมในการรักษาพยาบาลแก่เด็กนักเรียนลงสู่พื้นที่จริง และผู้นำท้องถิ่นชุมชนเองต้องรับแนวทางมาปฏิบัติให้เกิดผลจริง เพราะไม่เพียงเป็นประโยชน์กับเด็กนักเรียน แต่ยังเป็นประโยชน์ส่วนรวมของพื้นที่ในการดูแลจัดการ ทั้งด้านสุขภาพและการดำเนินชีวิตด้านอื่นๆ อีกด้วย