ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากประสบการณ์ทำให้เข้าใจถึงความทุกข์ทรมานของผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี จึงทำให้ผันชีวิตตนเองมาเป็น อสม.เพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวีมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตนเองจะเป็นชาวเมียนมาร์  แต่ได้อุทิศตนทำงานเพื่อสุขภาพของคนไทยและแรงงานข้ามชาติ จนได้รับรางวัล อสม.ดีเด่นระดับชาติในสาขา การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในชุมชน ประจำปี 2559

30 ปีก่อน เมี๊ยะ หญิงชาวพม่าเชื้อสายมอญ ได้เข้ามาพักอาศัยอยู่ในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่ที่มีประชากรชาวพม่าอาศัยอยู่กว่าหนึ่งหมื่นหกพันคน จนกระทั่งในปี 2538 เป็นจุดพลิกผันให้เข้ามาทำงานจิตอาสา เนื่องจากผลการตรวจเลือดก่อนบริจาคโลหิต พบว่าติดเชื้อเอชไอวี แต่หลังจาก 3 เดือนให้หลัง ผลการตรวจเลือดซ้ำผลออกมาคือไม่ติดเชื้อฯ ทำให้เข้าใจถึงความทุกข์ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีช่วงระหว่างรอผลการตรวจยืนยัน จึงมีความคิดที่จะอุทิศตนทำงานช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ และได้เข้าทำงานเป็นอาสาสมัครพยาบาลในศูนย์ช่วยเหลือขององค์กร MSF ในปี 2538 ซึ่งขณะนั้นศูนย์ได้รับอุปการะเด็กชาวพม่าวัย 2 ปี รายหนึ่ง ที่ต้องกำพร้าพ่อแม่เนื่องจากเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ เธอได้มีโอกาสดูแลเด็กคนดังกล่าวจนอายุ 6 ปี และมีเด็กที่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกันทยอยเข้ามาอยู่ในความดูแลของศูนย์ฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความคิดอยากทำงานเชิงรุกมากกว่าการคอยตั้งรับปัญหาที่ศูนย์ฯ

จากนั้นจึงลาออกจากงานที่ศูนย์ MSF และสมัครเป็นอาสาสมัครมูลนิธิพัฒนรักษ์ ซึ่งทำงานด้านการให้ความรู้และการป้องกันโรคเอดส์ พร้อมๆ กับการเข้าอบรมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขของโรงพยาบาลสังขละบุรี จนกระทั่งเบนเข็มมาทำงาน อสม.เต็มตัวในปี 2548 และยังคงเน้นหนักงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ เนื่องจากสภาพการหมุนเวียนเข้า – ออกของประชากรต่างด้าวในพื้นที่ทำให้ยากต่อการควบคุมการแพร่เชื้อเอชไอวี ขณะเดียวกันปัญหาผู้ติดเชื้อ / ผู้ป่วยเอดส์ในอำเภอสังขละบุรีส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวที่ด้อยโอกาส ขาดความรู้ในการปฏิบัติตน และปัญหาการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำให้ขาดโอกาสได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐาน ส่วนเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ติดเชื้อ / ป่วยด้วยโรคเอดส์และเสียชีวิต ขาดการดูแลที่ดี

เมี๊ยะ ในวัย 48 ปี เล่าว่า การปฏิบัติงานในฐานะ อสม.ของเธอ ได้ร่วมกับ อสม.ในชุมชนออกติดตาม เยี่ยมเยียน และดูแลให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดเชื้อ / ผู้ป่วยเอดส์และครอบครัว ให้คำแนะนำในการคุมกำเนิดกับผู้ติดเชื้อ การค้นหาหญิงตั้งครรภ์ให้เข้ารับการฝากครรภ์และตรวจเลือดในระยะเริ่มต้น เพื่อให้มีโอกาสได้รับการดูแลตามมาตรฐาน ลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก การรณรงค์ตรวจเลือดก่อนต่างงานเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่

จากประสบการณ์การทำงานด้านเอดส์ ทำให้นางเมี๊ยะเข้าใจถึงลักษณะปัญหาของแต่ละคนว่ามีความแตกต่างกัน การช่วยให้แต่ละบุคคลรู้ปัญหาและรู้จักวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง จึงจะเป็นหนทางการแก้ปัญหาระยะยาวได้ และยังทำให้เกิดผลดีต่อการดูแลสุขภาพและการดำรงชีวิตที่มีความสุขอย่างยั่งยืนได้ ดังนั้น ทุกครั้งที่ อสม.ให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดเชื้อ / ผู้ป่วยเอดส์ ญาติ และประชากรกลุ่มเสี่ยง จะใช้หลักการให้คำปรึกษา (Counselling) แบบรายบุคคล เพื่อให้ผู้รับบริการรู้ปัญหาและค้นหาทางออกในการแก้ปัญหาด้วยตนเองซึ่งนับว่าเป็นวิธีการที่ได้ผลดี ทั้งการดูแลสุขภาพของผู้ติดเชื้อ / ผู้ป่วยเอดส์ การป้องกันผู้ป่วยดื้อยารายใหม่ และยังทำให้เกิดความไว้วางใจของผู้รับบริการและผู้ให้บริการอีกด้วย

ทั้งนี้ได้สร้างแกนนำจิตอาสาด้านเอดส์ โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเยาวชน จัดอบรมความรู้ ปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องเอชไอวี/เอดส์ มีการจัดจัดคู่มือเป็นภาษาท้องถิ่น เพื่อให้สะดวกในการปฏิบัติงา และยังได้ติดตั้ง condom boxหรือตู้ถุงยางอนามัย ติดตั้งในบริเวณชุมชน เช่น ศาลาในชุมชนที่มีกลุ่มวัยรุ่นไปรวมกลุ่มกันตอนกลางคืน เป็นต้น เป็นการเพิ่มช่องทางเข้าถึงถุงยางอนามัยมากขึ้น  

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนในกลุ่มผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ที่ส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวที่มีฐานะยากจน ไร้อาชีพ และมีปัญหาเรื่องสถานะและสิทธิการรักษา ซึ่งกลุ่มนี้เป็นเวทีสำหรับการพูดคุยปัญหาต่างๆ ปรึกษาหารือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และต่อมาได้เกิดการออมทรัพย์ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือเพื่อนที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 จนถึงปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่ม 15 คน มีการเงินออมรวม 11,200 บาท และในอนาคตกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนมีแผนจะจัดฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกกลุ่มต่อไป

และได้จัดตั้งกลุ่มจิตอาสาเพื่อเป็นล่ามในการแปลภาษาถิ่น ได้แก่ ภาษาพม่า มอญ กะเหรี่ยง และภาษาอังกฤษ และจัดทำคู่มือภาษาถิ่นต่างๆ เพื่อเป็นสื่อความรู้รองรับการเปิดประชาคมอาเซียน โดยล่ามจิตอาสาที่มีจำนวน 9 คน จะทำหน้าที่แปลภาษาทุกครั้งที่มีการเปิดคลินิกให้ยาต้านไวรัสเอดส์ และการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ติดเชื้อ / ผู้ป่วยเอดส์

จากการดำเนินงานของ เมี๊ยะร่วมกับกลุ่ม อสม. และกลุ่มจิตอาสา ทำให้เกิดเป็นภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการดูแลผู้ติดเชื้อ / ผู้ป่วยเอดส์ได้อย่างครอบคลุม รวมถึงการขยายผลในการดูแลแก้ปัญหาด้านอื่นๆ ได้อย่างเป็นอย่างดี ขณะที่โดยส่วนตัวแล้ว นางเมี๊ยะตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และไม่มีผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิต หรือ Zero new HIV infections, Zero discrimination, Zero AIDs-related deaths และการสร้างเครือข่ายแกนนำที่สามารถเป็นต้นแบบที่ดีในการดูแลสุขภาพตนเองและชุมชนเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มอีกด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง