ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอมงคล” หนุนตั้ง NHPB กำหนดทิศทางระบบสุขภาพประเทศ ท้วง สธ.ไม่ควรทำหน้าที่แกนนำขับเคลื่อน เพราะโครงสร้างทับซ้อนผลประโยชน์ เป็นเจ้าของ รพ.รายใหญ่ของประเทศ ส่งผลนโยบายไม่ได้รับการยอมรับ ถูกมองเป็นไปเพื่อประโยชน์ของหน่วยบริการตนเอง ทำ NHPB ไม่บรรลุเป้าหมาย แนะ สธ.ต้องกระจาย รพ.ออกก่อนทำหน้าที่นี้ พร้อมหนุน คสช.ทำหน้าที่ขับเคลื่อนแทนก่อน ชี้โครงสร้างเป็นกลาง    

นพ.มงคล ณ สงขลา

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอจัดตั้ง “คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ” (National Health Policy Board: NHPB) เพื่อกำหนดทิศทางระบบสุขภาพทั้งประเทศว่า เป็นแนวคิดที่ดีและจำเป็นที่เราต้องมีคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อผลักดันนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศไปสู่เป้าหมายร่วมกัน โดยจะมีผู้ที่รับผิดชอบงานผลักดันที่ชัดเจน แต่ทั้งนี้คนที่จะมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนได้นั้น จะต้องไม่มีโครงสร้างที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งตามข้อเสนอได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนนำทำหน้าที่นี้ แต่ตราบใดที่กระทรวงสาธารณสุขยังเป็นผู้ดูแลหน่วยบริการและให้บริการรายใหญ่ของประเทศ การทำหน้าที่ขับเคลื่อนรวมถึงการออกนโยบายต่างๆ แม้ว่าจะเป็นการมุ่งเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพที่ดี แต่จะถูกมองว่าเป็นการขับเคลื่อนเพื่อตนเอง เพื่อประโยชน์หน่วยบริการของตนเอง

“เมื่อกระทรวงสาธารณสุขยังคงเป็นคนเล่นในสนามฟุตบอล แต่จะบอกว่าตนเองจะมาเป็นผู้กำกับการเล่น หรือเป็นคนที่จะมาดูแลกติกาการเล่นในสนามคงเป็นไปไม่ได้ จะเป็นทั้งคนเล่น ทั้งโค้ช รวมถึงเจ้าของสนามเอง บทบาทหน้าที่แบบนี้คงไม่ได้รับการยอมรับแน่นอน” 

นพ.มงคล กล่าวว่า หากกระทรวงสาธารณสุขต้องการเล่นบทบาทคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ โดยเปลี่ยนมาเล่นเป็นผู้ควบคุมและกำกับนโยบายต่างๆ เพื่อกำหนดทิศทางระบบสุขภาพประเทศไปแนวทางเดียวกัน เพื่อดูแลประชาชน กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องกระจายอำนาจ โดยให้โรงพยาบาลในสังกัดไปอยู่ในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่น หรือแม้แต่การออกนอกระบบเช่นเดียวกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งจะทำให้การทำหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติเป็นที่ยอมรับได้

ทั้งนี้หากแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขยังคงถือหน่วยบริการไว้ และผลักดันการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติได้สำเร็จ ถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการจะมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม จะเป็นการร่วมเพื่อเป็นส่วนเสริมเท่านั้น แต่ในแง่ของปฏิบัติเชื่อว่าจะยังคงความไม่ไว้วางใจและการยอมรับในการดำเนินการต่างๆ และแม้ว่าตามโครงสร้างคณะกรรมการจะให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ในข้อเท็จจริงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการจะอยู่ภายใต้ รมว.สาธารณสุขในฐานะรองประธาน รวมถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุขในฐานะเลขานุการ เพียงเท่านี้การทำหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ก็ดูไม่เป็นกลางแล้ว และจะขับเคลื่อนอย่างไร ซึ่งในที่สุดจะล้มเหลวไม่บรรลุวัตถุประสงค์การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติตามที่ตั้งไว้   

ส่วนที่มองว่า การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ทับซ้อนกับบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) นั้น นพ.มงคล กล่าวว่า ที่ผ่านมา คสช.ทำในเรื่องการขับเคลื่อนนโยบาย โดยเน้นการมีส่วร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีอยู่แล้ว และมีความเป็นกลางสูง แตกต่างจากกระทรวงสาธารณสุขที่ยังคงดูแลหน่วยบริการ ซึ่งหากจะให้ คสช.ทำหน้าที่นี้แทนในระหว่างที่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่สามารถกระจายอำนาจได้ ดูเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า และเรื่องนี้กระทรวงสาธารณาสุขตราบใดที่ยังมีโรงพยาบาลไว้ในมือยังไม่ควรทำเรื่องนี้เอง แต่เป็นส่วนหนึ่งของประกอบคณะกรรมการชุดนี้ได้ อย่างไรก็ตามเท่าที่ดูแนวทางที่ให้ คสช.ดำเนินการแทน กระทรวงสาธารณสุขคงไม่ยอม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงตั้ง คกก.นโยบายสุขภาพชาติ แต่ที่ประชุม คกก.ปฏิรูปราชการยังห่วงซ้ำซ้อน คกก.สุขภาพชาติ

เร่งยกร่างกฎหมายตั้ง คกก.นโยบายสุขภาพชาติให้เสร็จ ต.ค.นี้

เปิด 2 ทางเลือกคุมนโยบายสุขภาพชาติ ‘ตั้งซุปเปอร์บอร์ดชุดใหม่ vs ปรับโครงสร้าง คกก.สุขภาพ’

‘หมอเจตน์’ หนุนตั้ง NHPB คุมนโยบายสุขภาพภาครัฐ-เอกชน ลดความซ้ำซ้อน