ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ร้อยเอ็ดเสนอรัฐจัดตั้งหน่วยงานกลางเฉพาะ แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน หนุนคน งบประมาณ กฎหมายเฉพาะกำกับเข้ม เชื่อสามารถลดช่องว่างทำงานซ้ำซ้อน แก้ไขอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างแท้จริง  พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วมผลักดันและปลุกจิตสำนึกความปลอดภัย

วันที่ 6 ก.ย. 59 ที่ จ.ร้อยเอ็ด - ในการประชุมสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 ก.ย.59 จัดโดย สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ร่วมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สนพท.) สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย สมาคมสื่อช่อสะอาด บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างความร่วมมือสื่อสารประชาสัมพันธ์ขับเคลื่อนนโยบายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนให้มีความต่อเนื่อง และร่วมแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี  นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานเปิดการประชุม มีตัวแทนสื่อมวลชนระดับภูมิภาคและเครือข่ายจาก 20 จังหวัดภาคอีสาน ร่วมประชุมทั้งสิ้นกว่า 70 คน 

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า มาตรการการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดร้อยเอ็ด ได้นำมาตรการ 10 รสขม มาเป็นวิธีการทำงาน ซึ่งได้แก่ 1 ร. 2 ส. 3 ข.และ 4 ม. และคุมเข้มกฎหมายอย่างจริงจัง

1 ร คือ ควบคุมการขับขี่ความเร็วเกินกำหนด   

2 ส คุมเข้มขับขี่ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร การขับรถย้อนเส้นทาง 

3 ข การคาดเข็มขัด ขับขี่ไม่มีใบอนุญาต แซงในที่คับขัน

4 ม เข้มคุมเมาแล้วขับ การไม่สวมหมวก มีมอเตอร์ไซต์ไม่ปลอดภัย และใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ 

จากมาตรการที่ใช้สามารถทำให้ลดผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตทางถนนลงได้จำนวนหนึ่งแต่ยังไม่มากนัก การจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นระบบ และสามารถจัดการปัญหาได้อย่างแท้จริง คือ การมีหน่วยงานกลางจัดการ มีงบระประมาณ และกฎหมายเฉพาะขึ้น เพื่อความชัดเจนในการทำงาน ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานทำอยู่แต่ต่างคนต่างทำ ตามนโยบาย  5 เสาหลักของประเทศ แต่จำนวนผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนยังสูงอยู่ นั่นเพราะการบริหารในหลายส่วนยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ขาดองค์กรจัดการลดอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นเอกภาพ และทำงานแบบเต็มระบบ ทำให้ขาดความต่อเนื่อง   

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า การตายจากการบาดเจ็บทางถนนของประเทศไทยยังอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศลิเบีย มีอัตราตาย 36.2 ต่อประชากรแสนคน สูงกว่าอัตราตายเฉลี่ยทั่วโลกถึง 2 เท่า ที่สำคัญประเทศไทยตายจากรถจักรยานยนต์ เป็นอันดับ 1 การประชุมครั้งนี้มุ่งหวังให้สื่อมวลชนและเครือข่ายได้ร่วมกันทำหน้าที่ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เสนอข่าวเชิงวิเคราะห์ เจาะลึกถึงปัญหา สาเหตุที่แท้จริง ให้ประชาชนเกิดความตระหนัก 

นอกจากนี้สื่อต้องร่วมผลักดันนโยบายแก้ไขปัญหา สะท้อนปัญหาในพื้นที่ "ไม่ยอมรับพฤติกรรมเสี่ยง  รับไม่ได้กับการฝ่าฝืนวินัยจราจร" ซึ่งการประชุมได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ร่วมกันคือจะร่วมกันเชื่อมประสานการทางานกันให้เป็นเครือข่ายในภาค นำาเสนอเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนสู่สาธารณะในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง ร่วมจัดทำข้อเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกระดับ ให้เกิดการขับเคลื่อนป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ในระดับจังหวัดและระดับภาค และให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันในระหว่างองค์กรให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม

นายไพบูลย์ แน่นอุดร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเหนือเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า งานป้องกันอุบัติเหตุทางถนนตั้งเป้า ให้เป็นศูนย์ โดยบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าร่วมทั้ง ภาคประชาชน ชุมชน ภาครัฐ เอกชน และองค์กรอิสระ ซึ่งพื้นที่เป็นชุมชนเมืองและชุมชนชนบท ประชาชนใช้เป็นเส้นทางผ่านจำนวนมาก มีถึง 4 เส้นทาง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงได้มีนโนบายให้ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุอย่างเป็นรูปธรรม 

จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2555 – 2557 จำนวน 159 ครั้ง 120 ครั้ง และ 329 ครั้งตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยรุ่น

องค์การบริหารส่วนตำบลเหนือเมือง จึงร่วมกับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และภาคีเครือข่าย ทำโครงการองค์กรต้นแบบสวมหมวกนิรภัยขึ้น โดยเริ่มต้นมี 3 องค์กรเข้าร่วมคือ อบต.เหนือเมือง รร.ไพโรจน์วิชชาลัยและ ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซึ่งเมื่อประเมินผลงานพบว่าผู้บริหารทั้ง 3 แห่ง มีความพึงพอใจ สถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลง โดย อบต.เหนือเมือง พบมีอุบัติเหตุบาดเจ็บ ปี 2557 จำนวน 2 ราย  ปี 2559 ลดลงเหลือ 1 ราย ส่วนเสียชีวิต ปี 2557 จำนวน  1 ราย และในปี 2559 ไม่มีแม้แต่รายเดียว