ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข ประชุม คกก.บริหารองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก ที่ศรีลังกา ร่วมกับ 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก รับรองปฏิญญาว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการปฐมภูมิเพื่อการจัดการปัญหา NCDs พร้อมระบุประเด็นท้าทาย พัฒนากลไกจัดหายาและวัคซีนที่จำเป็นต่อการป้องกันและรักษาโรค โดยใช้ระบบการจัดซื้อยาร่วมกันในภูมิภาค เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง และลดการผูกขาดยาจำเป็น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเวชภัณฑ์เหล่านี้ได้

 

รมว.สาธารณสุข นำคณะผู้แทนไทย ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก ณ กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ระหว่างวันที่ 5-9 กันยายน 2559 เร่งร่วมมือจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก โดยอภิปรายร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 11 ประเทศ ในวาระสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการปฐมภูมิเพื่อจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases: NCDs) เน้นย้ำความสำคัญของการจัดการปัจจัยเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา บริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม และการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ โดยชื่นชมองค์การอนามัยโลก ที่เป็นองค์กรตัวอย่างในการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น การจัดการประชุมแบบกระฉับกระเฉง และการจัดอาหารลดหวาน มัน เค็ม เป็นต้น

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ความชัดเจนและจริงจังของนโยบาย เป็นปัจจัยสำคัญต่อการจัดการ NCDs โดยเฉพาะนโยบายที่เน้นการสร้างความเข็มแข็งให้กับระบบบริการปฐมภูมิ ซึ่งใกล้ชิดประชาชนที่สุด โดยประเทศไทยได้จัดให้มีสถานบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง มีอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน และเร่งพัฒนาคลินิกหมอครอบครัว เพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการสู่ประชาชน

นอกจากนี้ นพ.ปิยะสกล ได้กล่าวถึงประเด็นท้าทายสำคัญประการหนึ่งคือการเข้าถึงยาและเทคโนโลยีที่มีราคาแพง และประเทศไทยเห็นความจำเป็นที่ 11 ประเทศในภูมิภาค ต้องร่วมกันพัฒนากลไกเสริมศักยภาพการจัดหายาและวัคซีนที่จำเป็นต่อการป้องกันและรักษาโรค โดยใช้ระบบการจัดซื้อยาร่วมกันในภูมิภาค เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง และลดการผูกขาดยาจำเป็น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเวชภัณฑ์เหล่านี้ได้

ด้าน พญ.มากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกประเทศต้องร่วมมือลดปัญหา NCDs ด้วยกัน โดยต้องมีการคัดกรองให้ทั่วถึง โดยเฉพาะภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะความดันโลหิตสูง อันจะนำไปสู่การป่วยเป็นโรคเบาหวาน หัวใจและสมองขาดเลือด และโรคไตวาย ในที่สุด ซี่งก่อภาระต่อความก้าวหน้าของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคม

ผลลัพธ์ของการประชุมในครั้งนี้ คือการรับรองปฏิญญาว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการปฐมภูมิเพื่อการจัดการปัญหา NCDs เพื่อนำสู่การบรรลุ 9 เป้าหมายการป้องกันและควบคุม NCDs ในระดับโลก และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป