ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทันตแพทยสภา ไม่รับรองหลักสูตรคณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ปี 59 เหตุไม่ผ่านมาตรฐานหลักสูตรที่ทันตแพทยสภากำหนด ทั้งสัดส่วนอาจาย์และนักศึกษาไม่เป็นตามเกณฑ์ เตือนนักศึกษาและผู้ปกครองส่งบุตรหลานเรียน จบแล้วไม่มีสิทธิสอบใบประกอบวิชาชีพทันตแพทย์ หมดสิทธิเป็นหมอฟัน เผยก่อนหน้านี้เคยผ่านการรับรองหลักสูตรแล้ว หลังปรับปรุงจนได้ตามเกณฑ์ แต่ขยายรับนักศึกษาเพิ่มจนเกิดปัญหา พร้อมระบุทันตแพทยสภามีหน้าที่คุ้มครองประชาชนรับบริการทันตกรรม ผู้ให้บริการต้องมีคุณภาพและได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของประชาชน  

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา เปิดเผยว่า ในการประชุมทันตแพทยสภาเมื่อวานนี้ (8 ก.ย. 59) ได้มีการรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยยังคงยืนยันมติไม่รับรองหลักสูตรการศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ซึ่งเดิมทันตแพทยสภาได้เคยรับรองหลักสูตรให้กับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2557 โดยมีเงื่อนไขคือทางมหาวิทยาลัยต้องมีการปรับปรุงการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และมาตรฐานหลักสูตรที่ทันตแพทยสภากำหนด เพื่อให้นักศึกษาทันตแพทย์ที่เรียนจบมีคุณภาพและมาตรฐาน โดยให้เวลาดำเนินการ 1 ปี ซึ่งได้ครบไปเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นจะต้องส่งรายละเอียดการปรับปรุงหลักสูตรมาให้ทันตแพทยสภาพิจารณา เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ปรากฎว่ากลับไม่มีการส่งเอกสารมา โดยได้จัดส่งมาให้ทันตแพทยสภาพิจารณาในเดือนธันวาคม 2558   

ทั้งนี้หลังทันตแพทยสภาได้รับเอกสารเพื่อให้พิจารณาหลักสูตรคณะทันตแพทยสภาของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นแล้ว ได้ดำเนินการตามขึ้นตอนในการตรวจและประเมิน ซึ่งพบว่าหลักสูตรการเรียนการสอนที่จัดทำขึ้นนั้น ยังไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่ทันตแพทยสภากำหนด ขณะที่สัดส่วนของอาจารย์คณะทันตแพทย์ต่อจำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนก็ไม่ได้เป็นไปตามเกณฑ์ โดยสัดส่วนมาตรฐานการเรียนคลินิกอยู่ที่ 1 ต่อ 4 นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ อีก ดังนั้นทันตแพทยสภาจึงไม่รับรองหลักสูตรการเรียนการสอนคณะทันตแพทย์ศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นจัดทำขึ้นนี้

ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ผลที่ตามมาจากมติในครั้งนี้ คือ นักศึกษาที่จะเข้าเรียนคณะทันตแพทยของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ในปี 2559 นี้ เมื่อเรียนจบแล้วจะไม่มีสิทธิในการสอบใบอนุญาติประกอบวิชาชีพทัตนแพทย์ เนื่องจากเป็นการเรียนหลักสูตรที่ไม่ได้มาตรฐานรับรอง ซึ่งเท่ากับว่านักศึกษาที่เข้าเรียนจะไม่สามารถเป็นทันตแพทยได้ ดังนั้นจึงขอเตือนไปยังนักศึกษาและผู้ปกครองที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนหลักสูตรนี้

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ถือเป็นจรรยาบรรณของมหาวิทยาลัยซึ่งหากยังคงเปิดรับนักศึกษาทันตแพทย์ในหลักสูตรที่ไม่ได้มาตรฐานของทันตแพทยสภา เมื่อนักศึกษาเหล่านี้เรียนจบแล้ว แต่ไม่สามารถสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ มหาวิทยาลัยคงต้องรับผิดชอบ   

ต่อข้อซักถามว่า เมื่อทันตแพทยสภาไม่รับรองหลักสูตรการสอน ทำไมมหาวิทยาลัยจึงยังคงเปิดสอนได้ ทพ.ไพศาล กล่าวว่า เนื่องจากเป็นการถือกฎหมายคนละฉบับ ซึ่งมหาวิทยาลัยเอกชนจะยึดตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน โดยดำเนินการตามเกณฑ์ตามกฎหมายฉบับนี้ ที่มีเนื้อหากว้าง ครอบคลุมทุกหลักสูตรการเรียนการสอน แต่ในส่วนของวิชาชีพเฉพาะที่มีผลกระทบ อย่างกรณีของทันตแพทย์จำเป็นต้องมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นมาตรฐานจำเพาะ ซึ่งทันตแพทยสภามีบทบาทหน้าที่ในการคุ้มครองประชาชนที่มารับบริการทันตกรรม ผู้ให้บริการจึงต้องมีคุณภาพผ่านการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของประชาชน  

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้เคยมีหลักสูตรของมหาวิทยาลัยที่ไม่ผ่านการรับรองหรือไม่ ทพ.ไพศาล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ทันตแพทยสภาไม่รับรองหลักสูตรการศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นได้เปิดรับนักศึกษาทันตแพทย์มาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว แต่เพิ่งได้รับการรับรองหลักสูตรจากทันตแพทยสภาในปี 2557 โดยในกรณีของนักศึกทันตแพทย์ที่เข้าเรียนก่อนหน้านี้ ทันตแพทยสภาได้รับรองย้อนหลังให้เนื่องจากเห็นใจนักศึกษาทันตแพทย์ที่เรียนในชั้นปีสูงแล้ว โดยให้มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นปรับปรุงมีความพร้อมระดับหนึ่งซึ่งทันตแพทยสภาให้การรับรองแล้ว โดยในช่วงแรกนักศึกษาที่เข้าเรียนมีจำนวนไม่มาก เพียงรุ่นละ 20-30 คนเท่านั้น แต่หลังจากที่ทันตแพทยสภารับรองหลักสูตรปรากฎว่า มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นได้มีการขยายรับนักศึกษาเข้าเรียนเพิ่มขึ้น ถึงรุ่นละ 120 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินไป ไม่สอดคล้องกับทรัพยากรการสอนรวมทั้งอาจารย์ ดังนั้นที่ผ่านมาทันตแพทยสภาจึงจำกัดให้รับได้เพียงปีละ 80 คนเท่านั้น    

“ขณะนี้จำนวนนักศึกษาที่ต้องการเรียนในคณะทันตแพทยศาสตร์มีจำนวนมาก แต่ที่เปิดรับได้ในปัจจุบันอยู่ที่จำนวน 800 คนต่อปี และมีแนวโน้มจะขยายเพิ่มเป็น 1,000 คนต่อปี ซึ่งที่ผ่านมามีสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจและเปิดหลักสูตรการสอนคณะทันตแพทย์ศาสตร์นี้ โดยล่าสุดทันตแพทยสภาได้อนุมัติหลักสูตรคณะทันตแพทย์ของมหาวิทยาลัยสุรนารี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยพะเยาแล้ว แต่ในส่วนของสถาบันการศึกษาเอกชนมีเพียง 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยรังสิตที่ได้รับการรับรองหลักสูตร และมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นที่มีปัญหาที่ทันตแพทยสภาไม่ให้การรับรองหลักสูตรในขณะนี้” นายกทันตแพทยสภา กล่าว