ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฉ.จัดประชุมชี้แจงนโยบายปี 2560 “หมออนุชา” ชู 5 ยุทธศาสตร์ พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในอีก 5 ปีข้างหน้า เตรียมผลิตบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้พร้อมรับมือกับผู้ป่วย และดึงการมีส่วนร่วมของ อปท.ให้มากขึ้น พร้อมดันให้เรื่องการปฐมพยาบาลและการ CPR บรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมปรับระบบการแพทย์ฉุกเฉินรองรับสังคมสูงอายุและสังคมเมือง 

ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จ.ปทุมธานี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดประชุมชี้แจงนโยบาย ปี 2560 และแนวทางการใช้แบบประเมินตนเอง Scoring สำหรับการดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินระดับจังหวัดระหว่างวันที่  14 – 15 กันยายน 2559 โดยมีผู้รับผิดชอบงานการแพทย์ฉุกเฉินจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แพทย์ที่เกี่ยวข้อง หัวหน้าศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัด ผู้รับผิดชอบงานการแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลจังหวัดทั่วประเทศ และ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมจำนวน  350 คน โดย นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นประธานในการเปิดงาน

นพ.อนุชา กล่าวถึงนโยบายและทิศทางการพัฒนางานการแพทย์ฉุกเฉินปี พ.ศ. 2560 ว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้รวบรวมสถิติการเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา พบว่ามีการออกเหตุมากถึงหนึ่งล้านสี่แสนครั้ง ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประชาชนรู้จักสายด่วน 1669 มากขึ้น อย่างไรก็ตามหากเรานำสถิติดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับประเทศที่ระบบการแพทย์ฉุกเฉินพัฒนาไปก้าวไกลแล้วอย่างประเทศญี่ปุ่น เท่ากับว่าเรามาถึงครึ่งทางที่ยังต้องพัฒนาการให้บริการกับประชาชนอีกมาก 

โดยในปี พ.ศ. 2560 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้วางแผนการทำงานโดยมุ่งหวังให้เกิดการทำงานที่ต่อเนื่องไปในอีก 5 ปีข้างหน้า และต้องการให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับการเจ็บป่วยฉุกเฉินของทุกคนที่อยู่ในประเทศได้ไม่เว้นแม้แต่ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานอยู่อาศัยหรือท่องเที่ยวในประเทศไทยซึ่งระบบการแพทย์ฉุกเฉินจะต้องพร้อมรับกับทุกคนได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียมและได้มาตรฐานซึ่งการพัฒนานั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย โดยในเบื้องต้นเราได้กำหนดยุทธศาสตร์และทางเดินในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทยไว้ 5 ข้อดังนี้

1.พัฒนาคุณภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจะสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกๆ ที่ให้สามารถให้บริการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ของตนเองได้ และจะสร้างให้เกิดการแข่งขันของแต่ละพื้นที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ 

2.พัฒนาระบบบริหารจัดการบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉินซึ่งเราจะผลิตบุคลากรให้เพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินที่ไม่ใช่เฉพาะแค่หมอหรือพยาบาลแต่ลงไปถึงผู้ปฏิบัติการหน่วยอื่น ๆ อาทิ เจ้าหน้าที่กู้ชีพ นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (PARAMEDIC) หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไปที่จะเข้ามาทำงานเป็นอาสาสมัครด้านการแพทย์ฉุกเฉินเราก็จะสนับสนุนอย่างเต็มที่อีกด้วย นอกจากนี้แล้วเรายังจะมีการพัฒนาหลักสูตรการเข้าให้ความช่วยเหลือในการเจ็บป่วยฉุกเฉินเฉพาะในกรณีต่างๆ อาทิเหตุการณ์ตึกถล่มและยังจะเตรียมผลักดันให้มีการบรรจุเรื่องการปฐมพยาบาลและการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) ให้บรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการเหมือนกับยุโรปที่เขาฝึกให้เด็กอายุ 12 ปีทุกคนต้องทำ CPR เป็น

3.พัฒนากลไกการอภิบาลระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนในเรื่องทุนทรัพย์ เรื่องของกฎหมายข้อมูลและงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนางานการแพทย์ฉุกเฉิน 

4.พัฒนาศักยภาพและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยเราจะทำให้เกิดการหลอมรวมการทำงานทั้งท้องถิ่นราชการเอกชนโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน เพื่อทำให้เกิดการร่วมมือกันทำงานเพื่อผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคนในประเทศไทยที่ได้มาตรฐาน

5.พัฒนาการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างกระแสการสนับสนุนและให้ความรู้ประชาชน โดยโจทย์ในการพัฒนาของเราคือทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาฝึกฝนและป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ และเรียกใช้ระบบ 1669 ได้อย่างถูกต้องและเป็นกำลังสำคัญให้กับเราในการพัฒนางานด้านการแพทย์ฉุกเฉินต่อไปในอนาคตด้วย

ด้าน นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงสาระสำคัญของแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินฉบับที่ 3 ว่า แผนฉบับนี้ได้ผ่านการรับฟังความเห็น และการทำประชาพิจารณ์จากหลายภาคส่วนทั่วประเทศมาแล้ว โดยมีการปรับให้สอดคล้องกับความต้องการอย่างแท้จริง โดยบริบทที่ต้องคำนึงถึงในอนาคต คือ ปัจจัยสังคมผู้สูงอายุ ที่หมายความว่าจะมีโอกาสที่จะเกิดเคสฉุกเฉินมากขึ้นแน่นอน ปัจจัยสังคมเมือง และกระแสความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่คนในสังคมจะมีความเครียด ฆ่าตัวตาย หรือเหตุอาชญากรรมเยอะขึ้น การเข้าถึงตัวผู้ป่วยจะยากขึ้น ปัจจัยทางเศรษฐกิจ และการคมนาคม ที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม มีภัยพิบัติมากขึ้น และกระแสเทคโนโลยีที่จะมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนในข้อมูลว่าเรื่องใดจริงเรื่องใดเท็จ

ซึ่งเป้าหมายที่ สพฉ.วางไว้ คือ ประเทศไทยต้องมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน ทุกคนเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมทั้งในภาวะปกติ และสาธารณภัย  โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน  รวมถึงการลดการเสียชีวิต และการพิการ จากภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นทุกจังหวัดต้องเตรียมความพร้อมในการจัดบริการที่มีคุณภาพได้

“แผนนี้เน้นเรื่องศูนย์สั่งการ ต้องมีมาตรฐานและมีคุณภาพ มีระบบประสานงานเพื่อสนับสนุนกับการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งในและต่างประเทศ ระบบประสานงาน กับ ภาคเอรัฐ เอกชน ปกครองส่วนท้องถิ่น และอยากเห็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมในการบริหารจัดการระบบด้วย” รองเลขาธิการ สพฉ.กล่าว