ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลขอนแก่นจัดประชาพิจารณ์เพื่อจัดบริการคลินิกรูปแบบพิเศษ หวังผู้ป่วยมีเงินจ่ายพิเศษได้รับบริการรวดเร็ว ย้ำไม่กระทบกับผู้ป่วยในระบบปกติ แต่ สธ.ยังไม่มีระเบียบกระทรวงรองรับเรื่องนี้ คาดจะสามารถออกระเบียบได้ช่วงต้นปี 60

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 ที่โรงแรมอวานี จ.ขอนแก่น โรงพยาบาลขอนแก่นจัดการประชุมประชาพิจารณ์การจัดบริการเพิ่มพิเศษสำหรับประชาชน โรงพยาบาลขอนแก่น โดยมี นายสิริรัฐ ชุมอุปการ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในการประชุม มีผู้เข้าร่วมการประชุมจากทุกภาคส่วน เช่น ภาคประชาชน  อสม. ตัวแทนหน่วยราชการในพื้นที่ จำนวนประมาณ 250 คน เข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ การประชุมครั้งนี้มี นพ.สมพงษ์ จรุงจิตตานุสนธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เป็นผู้กล่าวรายงาน และ นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินการประชุมประชาพิจารณ์

นพ.สมพงษ์ จรุงจิตตานุสนธิ์

นพ.ชาญชัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีระเบียบในการจัดบริการรูปแบบพิเศษ ซึ่งการทำประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ จะทำให้โรงพยาบาลได้รับฟังความคิดเห็น และจะได้ข้อมูลที่ได้จากการประชาพิจารณ์ครั้งนี้ นำไปเป็นข้อมูลเพื่อปรับปรุงระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข เช่น ระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนของบุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ตามการให้บริการรูปแบบพิเศษนี้จะเป็นบริการที่ไม่กระทบกับให้บริการในเวลาปกติ เพียงแต่แยกออกมาเพื่อให้บริการในรูปแบบพิเศษเท่านั้นเอง โดยคาดว่าระเบียบที่จะออกมาใหม่นี้ทางกระทรวงสาธารณสุขจะสามารถประกาศใช้ได้ในช่วงต้นปี 2560

นพ.ชาญชัย กล่าวว่า ในการเข้ารับบริการรูปแบบพิเศษนี้ สิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องจ่ายเพิ่มคือการจ่ายค่าบริการพิเศษเพิ่มเท่านั้น ส่วนอัตราจะเป็นเท่าไหร่นั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณาออกระเบียบอีกครั้ง ส่วนค่าใช้จ่ายในเรื่องค่ายา ค่ารักษา และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้น ผู้ป่วยจะได้ตามสิทธิการรักษาพยาบาลของตน เช่น สิทธิหลักประกันสุขภาพ สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ในขณะเดียวกันจะปรับพฤติกรรมการบริการของบุคลากรในโรงพยาบาล ให้ดีขึ้น ควบคู่กันไปกับการให้บริการในรูปแบบพิเศษ

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนได้มั่นใจได้ว่า แม้จะมีคลินิกบริการในรูปแบบพิเศษนั้น ทุกคนจะเข้าถึงบริการที่เคยได้รับตามสิทธิเหมือนเดิม การให้บริการในเวลาจะไม่หย่อนไปกว่าการให้บริการในรูปแบบพิเศษ  แต่สิ่งที่จะได้เพิ่มเติมคือเงินที่ได้จากผู้ป่วยที่มารับบริการนอกเวลา จะได้นำมาจุนเจือผู้ที่เข้ารับการรักษาในระบบปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ เพราะงบประมาณที่โรงพยาบาลได้รับมาจากงบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพนั้นไม่เพียงพอ แม้จะได้รับค่ารายหัวเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี 

ทั้งนี้มีประชาชนมาใช้บริการรักษาที่โรงพยาบาลขอนแก่น มีประมาณ 3,200 คนต่อวัน ไม่รวมคนไข้จากศูนย์แพทย์ 4 มุมเมือง ซึ่งการให้บริการจะไม่บกพร่อง แต่คิวจะสั้นลงเพราะบางส่วนที่มีกำลังจ่ายจะไปคลินิกพิเศษ สำหรับพื้นที่จะทำคลินิกพิเศษนั้น คาดว่าจะจัดทำที่ศูนย์มะเร็งของโรงพยาบาลขอนแก่น ที่สร้างขึ้นใหม่ เนื่องจากมีพื้นที่มากกว่าในโรงพยาบาล 

นพ.เสกสรร สุวรรณแพง รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลขอนแก่น นำเสนอแนวทางการจัดบริการเพิ่มพิเศษสำหรับประชาชน ว่า การให้บริการรูปแบบพิเศษนั้น จะเน้นการให้บริการผู้ป่วยนอก การบริการตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจพิเศษ เพื่อให้การรอคิวการรักษาในระบบปกติสั้นลง และหากเป็นโรคที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดมีการเปิดคิวพิเศษเพื่อลดระยะเวลาการรอคิว โดยการบริการผู้ป่วยนอกรูปแบบพิเศษนั้น จะมีการจัดพื้นที่เป็นสัดส่วนเฉพาะแยกออกจากการให้บริการปกติ มีบริการนัดหมายคิวล่วงหน้า และได้ตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ต้องการตรวจ 

นอกจากนี้ในบริการรูปแบบพิเศษ จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการเพิ่มเติม เช่น มีจุดให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแบบไร้สาย (ไวไฟ) มีห้องรอตรวจพิเศษ ห้องบริการแพทย์แผนไทย มีจุดรับยาในที่เดียวกัน มีบริการน้ำชา กาแฟ เครื่องดื่ม เป็นต้น ส่วนการบริการผู้ป่วยในรูปแบบพิเศษ มีศูนย์รับผู้ป่วยในนอกโรงพยาบาลที่แยกเป็นสัดส่วน  อย่างไรก็ตามรูปแบบนี้เป็นภาพฝันที่ต้องการให้เกิดในโรงพยาบาล แต่อาจจะต้องใช้เวลานานในการดำเนินการ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เพราะคงไม่สามารถดำเนินการได้ในครั้งเดียว

นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ

นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.ขอนแก่น และหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนอิสระนอกหน่วยบริการ ตามมาตรา 50 (5) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กล่าวว่า การจัดบริการรูปแบบพิเศษของโรงพยาบาลขอนแก่นนั้น ในส่วนของภาคประชาชนมีความกังวลหลายประเด็น คือ การให้บริการจะกระทบช่องทางปกติหรือไม่ ค่าบริการพิเศษที่ได้จากรูปแบบพิเศษจะบริหารจัดการอย่างไร และจะเป็นประโยชน์กับผู้ไปรับบริการในระบบปกติหรือไม่

“และหากผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการเข้ารับการรักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ซึ่งสามารถขอรับความช่วยเหลือเบื้องต้นจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้นั้น หากผู้ป่วยไปรับการรักษาพยาบาลในคลินิกพิเศษจะยังได้รับเหมือนเดิมหรือไม่ อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการประกันคุณภาพการรักษา ทางโรงพยาบาลควรมีคณะกรรมการในการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธาณสุขของโรงพยาบาล โดยมีทุกภาคีเครือข่ายที่กี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา” นายปฏิวัติกล่าว.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง