ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศาลปกครองไม่คุ้มครองชั่วคราวสรรหา เลขาธิการ สปสช. ด้วยเหตุผลในขั้นตอนไต่สวนฉุกเฉินนี้คดียังไม่ถึงกับชัดแจ้งว่า มติบอร์ดเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมานั้นผิดกฎหมายหรือไม่ ศาลจะชี้ชัดได้ต้องดูรายละเอียดข้อเท็จจริงและสืบพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องของคดีให้เสร็จก่อน “หมอประทีป” ยอมรับคำวินิจฉัย แต่ยังลุ้นเพิกถอนมติบอร์ด สปสช. 

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้ที่ถูกเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. แต่ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ค.มีมติไม่รับรอง เปิดเผยว่า ภายหลังยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้มีคำสั่งยกเลิกมติบอร์ด สปสช.และขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับกระบวนการสรรหาเลขาธิการ สปสช.รอบใหม่ออกไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่งวินิจฉัยและพิพากษา ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว

นพ.ประทีป กล่าวว่า ทราบว่าศาลมีคำสั่งยกคำร้องคือไม่คุ้มครองชั่วคราวด้วยเหตุผลในขั้นตอนไต่สวนฉุกเฉินนี้คดียังไม่ถึงกับชัดแจ้งว่า มติบอร์ดเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมานั้นผิดกฎหมายหรือไม่ ศาลจะชี้ชัดได้ต้องดูรายละเอียดข้อเท็จจริงและสืบพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องของคดีให้เสร็จก่อน

“ในขั้นนี้ต้องขอบคุณศาลปกครองกลางที่รับคำฟ้องและเปิดไต่สวนฉุกเฉินทันที พร้อมกับได้ให้คู่กรณีมาให้ถ้อยคำอย่างรอบด้าน เมื่อศาลมีคำสั่งยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราวก็ต้องยอมรับคำสั่งดังกล่าว” นพ.ประทีป กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีการฟ้องให้ยกเลิกมติบอร์ด สปสช.นั้น ยังคาดหวังว่าศาลปกครองจะพิจารณาข้อเท็จจริงพร้อมกับข้อกฎหมายและให้ความเป็นธรรมต่อไป ซึ่งขณะนี้ศาลยังไม่กำหนดเวลานัดหมาย แต่คาดว่าคงต้องใช้เวลา 1-2 ปี

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า จากนี้กระบวนการสรรหาเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ จะต้องเดินหน้าต่อไป อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งคนขอให้คำนึงถึงกฎหมายและคำนึงถึงอนาคตของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขอให้คัดเลือกคนที่มีความเหมาะสมที่จะผลักดันงานเพื่อส่วนรวมจริงๆ เพื่อให้ระบบที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันก็สามารถบริหารจัดการให้ระบบนี้มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นภาระกับงบประมาณของรัฐบาลมากเกินไป คือต้องกล้าที่จะเดินหน้าระบบนี้ให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์

นอกจากนี้ ต้องมีการประสานการทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อปฏิรูปตัวระบบบริการสาธารณสุขให้ยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่มากขึ้น

“ในภาพรวมของบุคคลที่มาสมัครพบว่ามีผู้ที่สนใจเข้ามาหลากหลายมากขึ้น และมีผู้ที่มีความเหมาะสมอยู่ครบถ้วนแล้ว แต่ก็ยังมีข่าวว่ามีกระบวนการล็อบบี้และมีการดำเนินการที่ค่อนข้างรีบเร่งและเสี่ยงต่อการทำผิดพลาดทางข้อกฎหมายได้อีก เช่น การแต่งตั้งกรรมการสรรหา ที่หลังจากตั้งแล้วจึงค่อยมาตรวจสอบคุณสมบัติย้อนหลัง และกลับพบว่ามีบุคคลขาดคุณสมบัติจนต้องเปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่ ฉะนั้นจึงขอให้คำนึงถึงข้อนี้ด้วย” นพ.ประทีป กล่าว