ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบแนวทางใช้สื่อออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 หนุนสภาวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้ต่อ หลังพบโพสต์-แชร์ ละเมิดสิทธิผู้ป่วยและจรรยาบรรณวิชาชีพ พร้อมผลักดันนโยบายสาธารณะลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อเป็น “วาระแห่งชาติ” เตรียมเสนอ ครม.เร็วๆ นี้

การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2559 วันที่ 23 กันยายน 2559 มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทั้ง Facebook Line Instagram ฯลฯ ได้ความนิยมอย่างแพร่หลาย แม้มีประโยชน์ด้านการสื่อสาร แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง เนื่องจากพบการละเมิดสิทธิและข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นจำนวนมาก ทั้งโดยบุคคลทั่วไปและผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพเอง ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงได้เห็นชอบ “แนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ” เพื่อให้เป็นมาตรฐานกลางสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพและทุกภาคส่วนในสังคมในการใช้โซเชียลมีเดียโพสต์ข้อความ แชร์ข้อมูล หรือภาพถ่ายต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสม เป็นประโยชน์ และไม่กระทบต่อสิทธิของผู้ป่วยหรือญาติต่อไป

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า แนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ มีหลักการสำคัญด้วยกัน 7 หมวด รวม 27 ข้อ ถือว่าเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็น ความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย

“แนวทางฯ นี้ไม่ได้เป็นการห้ามหรือบังคับผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพในการใช้โซเชียลมีเดีย แต่จะเป็นแนวปฏิบัติหรือแนวทางที่ช่วยทำให้ทุกคน ไม่เฉพาะแต่ในวิชาชีพด้านสุขภาพ ได้ตระหนักถึงการใช้ระบบสื่อสารออนไลน์ด้วยการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างเช่น สภาวิชาชีพ สถานพยาบาล และหน่วยงานต่างๆ ในระบบสุขภาพ สามารถนำแนวทางนี้ไปปรับใช้ได้ตามบริบทของแต่ละองค์กรต่อไป”