ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ และ รมว.คลัง 30 ก.ย.นี้ จี้ยกเลิกซื้อประกันสุขภาพเอกชนให้ข้าราชการ ยกเลิกซื้อประกันอุบัติเหตุให้ผู้มีรายได้น้อย ชี้ลิดรอนสิทธิประโยชน์ กระทบ รพ.รัฐ ซ้ำซ้อนกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แนะแก้ปัญหาแบบข้าราชการท้องถิ่นที่ได้สิทธิมากกว่าเดิม และใช้งบประมาณลดลง

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2559 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้อง ขอให้ยกเลิกการนำเงิน 60,000 ล้านบาทไปซื้อประกันสุขภาพเอกชนให้ข้าราชการ และยกเลิกการใช้เงิน 800 ล้านบาท ซื้อประกันอุบัติเหตุให้ประชาชน 8 ล้านคน และเตรียมยื่นจดหมายผ่าน รมว.การคลังในวันที่ 30 กันยายนนี้ เวลา 10.00 น. โดยระบุเหตุผลดังนี้

กรณีการซื้อประกันสุขภาพจากเอกชนให้ข้าราชการจำนวน 60,000 ล้านบาท

1.การดำเนินการซื้อประกันสุขภาพภาคเอกชน อาจจะเป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องและขัดแย้งกับมาตรา 9 และมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และขัดหลักการสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนในการจัดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2.ระบบประกันสุขภาพภาคเอกชนมีข้อจำกัด ส่วนใหญ่มีเงื่อนไขในการใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นบริการคนไข้ใน คนไข้นอก ที่ถูกควบคุมและจำกัด อาจจะส่งผลกระทบต่อสวัสดิการข้าราชการที่เคยได้รับ รัฐบาลควรใช้บทเรียนการจัดสวัสดิการข้าราชการส่วนท้องถิ่น ที่พบปัญหาการใช้งบประมาณสูงต่อเนื่องทุกปี เช่นเดียวกับระบบสวัสดิการข้าราชการซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้แก้ปัญหาโดยให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รับจัดบริการให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทำให้ปัจจุบันข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าเดิมและไม่น้อยกว่าสวัสดิการข้าราชการ และใช้งบประมาณเพียง 7,000 บาทต่อคนต่อปี โดยที่ระบบสวัสดิการข้าราชการใช้เงินมากกว่า 12,000 บาทต่อคนต่อปี หรือหากให้บริษัทประกันชีวิตภาคเอกชน ดำเนินการระบบสุขภาพของข้าราชการไม่ควรใช้งบประมาณเกิน 7,000 บาทต่อคนต่อปี เช่นเดียวกับศักยภาพของ สปสช.

3.การดำเนินการครั้งนี้ ส่งผลต่อบริการของโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เนื่องจากการจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลให้กับข้าราชการ โดยส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่ให้โดยตรงกับโรงพยาบาลรัฐในระดับต่าง ๆ แต่หากจัดซื้อประกันสุขภาพภาคเอกชน ย่อมทำให้งบประมาณส่วนใหญ่ตกอยู่กับโรงพยาบาลเอกชน ย่อมส่งผลต่อฐานะทางการเงินการคลังของโรงพยาบาลรัฐแน่นอน

4.ถึงแม้กระทรวงการคลัง จะใช้มาตรการนี้เพื่อแก้ปัญหาคอรัปชั่น การช้อปปิ้งยา ซึ่งเป็นปัญหาปัจเจกบุคคล และควรมีการจัดการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่การใช้มาตรการนี้ไม่มีหลักประกันว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ แต่ส่งผลกระทบต่อการรับบริการของข้าราชการและครอบครัวอย่างชัดเจน เพราะการกำกับธุรกิจประกันภาคเอกชนก็มีความจำเพาะและต้องให้อิสระเสรีในการทำธุรกิจ

กรณีการใช้เงิน 800 ล้านบาท ซื้อประกันชีวิต อุบัติเหตุให้ประชาชน 8 ล้านคน

1.ความไม่คุ้มค่าในการใช้เงิน 800 ล้านบาท ในการทำประกันชีวิต 99 บาท เนื่องจากให้การคุ้มครองน้อยกว่ากฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีเพียงการคุ้มครองเสียชีวิต 50,000-60,000 บาทในกรณีเสียชีวิต และจ่ายชดเชย 300 บาทต่อวัน ขณะที่การคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจ่ายตามจริงไม่เกิน 80,000 บาท การชดเชยรายวัน ไม่เกิน 4,000 บาท (จำนวน 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน) ชดเชยการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพจ่าย 300,000 บาทแก่ทายาท สูญเสียอวัยวะ 200,000- 300,000 บาท

2.กระทรวงการคลังถูกหลอกและประชาชนตกเป็นเหยื่อของบริษัทประกัน เพราะหลักการคุ้มครองการเสียชีวิตจากเหตุสุขภาพจะได้เงินหลังจากทำประกันชีวิตไปแล้ว 2 ปี (ห้ามตายก่อน 2 ปี) ทำให้เสียเงินประกันชีวิตฟรี 800 ล้านบาท หรือต้องทำประกันถึง 3 ปีใช้เงินมากถึง 2,400 ล้านบาท จึงจะได้รับการคุ้มครองจากการเสียชีวิต ซึ่งสิทธิประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับเงินที่ใช้ไปในครั้งนี้เพราะหากเสียชีวิตได้เงินเพียง 50,000-60,000 บาทเท่านั้น

3.ปัญหาการทำประกันภาคบังคับ กรณี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พบปัญหา อัตราการใช้สิทธิจากอุบัติเหตุต่ำมากไม่ถึง 50% ปัญหาการจ่ายเงินเพื่อการบริหารจัดการสูงถึง 52% หรือประมาณ 4,785 ล้านบาท ขณะที่ใช้งบประมาณในการจ่ายสินไหมทดแทนประมาณ 4,534 ล้านบาท หรือ 48% เท่านั้น และประชาชนทุกคนเกือบ 100% มีปัญหาจากการใช้สิทธิเมื่อเกิดอุบัติเหตุ กลไกการกำกับและการติดตามการใช้งบประมาณบริหารที่สูงเกินจริงจะทำได้อย่างไร

4.บริษัทประกันได้ประโยชน์แน่นอน 800 ล้านบาท หากเทียบเคียงจากระบบประกันภัยคุ้มครองผู้สบภัยจากรถ ที่รัฐบังคับให้เจ้าของรถทุกประเภทต้องทำประกันภัยนี้

จึงใคร่ขอให้นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาและยุติการดำเนินการที่อาจขัดต่อกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประชาชนทั้งประเทศ และขอให้เร่งรัดการดำเนินการให้การใช้งบประมาณทั้งหมดราว 260,000 ล้านบาท พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้มีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม จัดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างเสมอภาคให้กับทุกคน ซึ่งงบประมาณเหล่านี้สามารถทำให้ทุกคนได้รับการดูแลรักษาทุกโรคอย่างเหมาะสม มีคุณภาพมาตรฐาน และเพียงพอสำหรับทุกคน”