ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ.แจงภารกิจบูรณาการเพื่อความยั่งยืน ระบุ เดินหน้าปรับสิทธิประโยชน์ 3 กองทุนสุขภาพให้เท่าเทียม ยอมรับไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะเดียวกันจ่อถกแก้ปัญหาบุคลากรขาดแคลน-หาข้อยุติแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว 

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในเวทีอภิปรายหัวข้อ “เสริมประสาน ความร่วมมือ เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ยั่งยืน” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือเพื่อปรับสิทธิประโยชน์ทั้ง 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพ ประกอบด้วย หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ให้เท่าเทียมกัน

นพ.โสภณ กล่าวว่า หากคนไทยทั้ง 3 กองทุน ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันก็เท่ากับไปถึงเป้าหมายเดียวกัน แต่อาจจะมีสิทธิประโยชน์บางรายการที่เหนือขึ้นไปซึ่งนายจ้างเป็นผู้ออกเงินให้ เช่น ข้าราชการสามารถนอนห้องพิเศษได้ แต่คิดว่าสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เป็นตัวเสริมก็เหมือนกับนั่งเครื่องบินชั้นเฟิร์สคลาสที่คงต้องจ่ายเพิ่มเอง

“สิ่งสำคัญที่เราพยายามขับเคลื่อนก็คือชุดสิทธิประโยชน์หลัก เช่น เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ที่ควรได้รับเหมือนกันทั้ง 3 กองทุน แต่ในข้อเท็จจริงก็ขับเคลื่อนยาก คือตอนนี้จะมีแพคเกจใหญ่ชุดหนึ่งที่ทุกคนบอกว่าควรเท่าเทียมกัน แต่พอลงรายละเอียดว่าทำอย่างไร ใช้เงินจากไหน มันค่อนข้างขยับยาก” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า ในสิทธิประโยชน์ที่มีความเหลื่อมล้ำกันระหว่างกองทุน เช่น สิทธิทันตกรรม จำเป็นต้องดึงมาพิจารณาเป็นรายสิทธิประโยชน์เพื่อปรับแก้ รวมถึงเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรคที่ควรจะบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อทำงานร่วมกันระหว่างกองทุน

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ สธ.พยายามปรับเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการคลังก็คือโรงพยาบาลสังกัด สธ.ซึ่งรับผิดชอบ 75% ของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่ง สธ.พยายามเกลี่ยแบบเป็นขั้นบันได (Step Ladder) ส่วนค่าใช้จ่ายที่ประมาณการไว้จะเพิ่มขึ้นสูงอย่างแน่นอน คำถามคือแล้วจะเอาเงินมาจากไหน หรือต้องลดค่าใช้จ่ายลง ซึ่ง สธ.ก็ได้มีกรอบการลดค่าใช้จ่ายแล้ว

นพ.โสภณ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องคุยกันหลังจากนี้ก็คือ 

1.งบประมาณเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากในอนาคตจะเพิ่มขึ้นสูง 

2.ต้องเดินหน้าสร้างให้เกิดความเป็นธรรม

3.ประเด็นการแยกเงินเดือนของบุคลากร ซึ่งยังต้องถกเถียงกันอีกมาก เนื่องจากเดิมเหตุผลของการรวมเงินเดือนในงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อช่วยปรับสัดส่วนบุคลากรตามจำนวนประชากร แต่จนถึงปัจจุบันผ่านมา 14 ปี ก็ยังแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ รวมถึงการทำแผนกำลังคนสุขภาพ เพราะ สธ.เองก็ขาดบุคลากร เช่นกัน 

4.นวัตกรรมและนโยบาย