ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานทีดีอาร์ไอ ชงรัฐตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริการสุขภาพ แนะรัฐบาล แก้กฎหมายเปิดช่องดึงแพทย์-พยาบาล-บุคลากรสาธารสุขต่างประเทศ เข้ามารักษาคนต่างชาติในไทย ระบุ เมดิคัล ฮับ โกยรายได้ปีละ 1 แสนล้าน แต่ต้องไม่กระทบการบริการคนในประเทศ

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บรรยายพิเศษหัวข้อ “ทิศทางและอนาคตประเทศไทย” ภายในการประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ยังไม่มีความชัดเจน นโยบายคลัสเตอร์และซุปเปอร์คลัสเตอร์ ส่งเสริม10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยหนึ่งในนั้นคือการแพทย์ครบวงจร ซึ่งเกี่ยวข้องกับเมดิคัล ฮับ และการผลิตยาต่างๆ

นายสมเกียรติ กล่าวว่า พูดง่ายๆ ก็คือประเทศไทยต้องการส่งออกบริการด้านสุขภาพ ซึ่งในทางวิชาการนั้นบริการสุขภาพสามารถส่งออก หรือทำมาค้าขายกับต่างประเทศได้ 4 แบบ ได้แก่ 

1.แพทย์รักษาคนไข้ทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ตด้วย telemedicine วิธีนี้ยังไม่ค่อยเกิดขึ้นแพร่หลายมาก แต่ในอนาคตจะเกิดขึ้นมาก 

2.คนไข้เดินทางมารักษาพยาบาลกับแพทย์ นี่ก็คือกรณีของเมดิคัล ฮับ

3.นักลงทุนเจ้าของโรงพยาบาลไปลงทุนเปิดโรงพยาบาลในต่างประเทศ ซึ่งกรณีของทุนสุขภาพไทยก็ได้เริ่มดำเนินแนวทางนี้ไปในประเทศอาเซียนไปในประเทศเอเชียใต้ 

4.แพทย์เดินทางไปรักษาคนไข้ในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ประเภทที่มีมูลค่าใหญ่ที่สุดในตอนนี้ก็คือการที่คนไข้เดินทางมารักษาพยาบาลที่ประเทศไทยในนามของเมดิคัล ฮับ ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนได้ทำการตลาดมาตั้งแต่ปี 2540 ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ได้ทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเมดิคัล ฮับ และขยายเวลาอยู่ในประเทศไทย 90 วันไม่ต้องทำวีซ่าเข้าออกหลายครั้ง จนทำให้นโยบายนี้สร้างรายได้เข้าประเทศกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สาเหตุที่เมดิคัล ฮับ ทำรายได้มหาศาล เนื่องจากการรักษาในประเทศไทยราคาถูก มีคุณภาพ บุคลากรเก่ง ต้อนรับดี โดยพบว่าค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยถูกกว่าสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ 6 เท่า ไปจนถึง 15 เท่า

“ในมุมหนึ่งเมดิคัล ฮับ เป็นตัวสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่อีกมุมหนึ่งก็จะเห็นว่าภาระงานของบุคลากรด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น เกิดการกระจุกตัวของบุคลากร นำมาซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากแพทย์จากชนบท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จากโรงเรียนแพทย์ จะถูกดึงตัวเข้าสู่ระบบเอกชน ส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลแพง” นายสมเกียรติ กล่าว

ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เมื่อนำ 2 เรื่องมาผนวกเข้าด้วยกัน คือในขณะที่รัฐบาลประกาศนโยบายเศรษฐกิจพิเศษ รัฐบาลก็มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่นั่นก็คือเมดิคัล ฮับ อาจจะได้แนวทางต่อปัญหา โดยส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลไม่ควรทำเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่เน้นการใช้แรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ควรมุ่งสู่กิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

“ที่สำคัญมากก็คือในบริการสุขภาพเอง ควรจะเปิดโอกาสให้แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรด้านสุขภาพจากต่างประเทศ เข้ามาให้บริการคนไข้ต่างประเทศในพื้นที่ที่จำกัด ซึ่งปัจจุบันกฎหมายของไทยห้ามไว้อยู่ ถ้าจะทำเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตอบโจทย์สร้างรายได้ประเทศ ในเวลาเดียวกันไม่สร้างภาระแก่การรักษาพยาบาลต่อคนไทย สิ่งที่ควรนำเข้าไม่ใช่คนไข้เท่านั้น แต่ต้องนำเข้าบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาด้วย และถ้าจะดีนำเข้ามาในสัดส่วนที่สูงกว่านำเข้าคนไข้ด้วย” นายสมเกียรติ กล่าว