ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ UHOSNET ผ่าทางตันปัญหาโรงพยาบาลแออัด เสนอยกเลิก ‘เอ็กเทิร์น’ ปฏิบัติงานห้องฉุกเฉิน ชงขยายเวลาเปิดบริการ ‘โอพีดี’

นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต

นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “ถกแถลง: ระบบอุบัติเหตุฉุกเฉินที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า ปัญหาโรงพยาบาลแออัดส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีนักศึกษาแพทย์มาฝึกปฏิบัติงานจริงกับผู้ป่วย (Extern) ในห้องฉุกเฉิน ซึ่งนักศึกษาเหล่านั้นไม่สามารถรักษาได้อย่างเต็มที่ จะต้องไปตามใครสักคนมาช่วย ส่งผลให้เกิดความล่าช้า เสียเวลา วงรอบในการรักษาจึงนาน

นพ.นเรนทร์ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าน่าจะหมดสมัยที่จะให้คนที่มีประสบการณ์น้อยที่สุดในโรงพยาบาลดูแลคนไข้ที่หนักที่สุดคือคนไข้ในห้องฉุกเฉิน เพราะหากทักษะความชำนาญไม่ดี ใช้ระยะเวลานาน ย่อมเกิดปัญหาขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องปรับระบบใหม่คือให้แพทย์ที่มีความสามารถมาอยู่ในห้องฉุกเฉิน รวมถึงทีมพยาบาลที่มีทักษะ ซึ่งจะทำให้ตอบสนองต่อการรักษาได้เร็วขึ้น ช่วยลดปัญหาความแออัดลงได้

นพ.นเรนทร์ กล่าวอีกว่า ต้องมีการปรับปรุงระบบการคัดกรองให้ดีมากๆ เช่น ต้องให้พยาบาลที่มีประสบการณ์ 4-5 ปี มาอยู่หน้าห้องฉุกเฉินเพื่อคัดกรองผู้ป่วยว่าคนไหนควรจะเข้ามาได้ คนไหนควรจะนั่งรอข้างหน้า และสื่อให้เข้าใจด้วยว่าระยะเวลาการนั่งรอนั้นนานเท่าใด ที่สำคัญคือต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสมให้คนไข้รอเพื่อให้คนไข้มีความสุขในการรอ

“อีกประเด็นคือการดำเนินการกับกลุ่มคนไข้ที่รอ อาจจะขยายเวลาการเปิดโอพีดี (แผนกผู้ป่วยนอก) ออกไป เพราะทุกวันนี้โอพีดีจะเปิดถึงประมาณ 2 ทุ่ม พอหลัง 2 ทุ่ม ทุกอย่างจะถูกโยนไปที่ห้องฉุกเฉินทั้งหมด แต่ถ้าเปิดโอพีดีได้ถึงเที่ยงคืน มันจะแบ่งเบาภาระของห้องฉุกเฉินได้มาก” นพ.นเรนทร์ กล่าว

นายสมชาย กระจ่างแสง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ทุกวันนี้ระบบแพทย์ฉุกเฉินยังใช้การไม่ได้จริง ยังเป็นเรื่องของกองทุนใครกองทุนมัน ที่สำคัญคือนิยามคำว่าฉุกเฉินมีช่องว่าง ทำให้แพทย์กับประชาชนเข้าใจไม่ตรงกัน

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยที่ใช้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล บางกรณีให้สำรองจ่ายไปก่อนแล้วค่อยเบิกตามหลัง โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งสุดท้ายแล้วการเบิกตามหลังได้น้อยกว่าความเป็นจริงจำนวนมาก

“บางรายไม่มีเงินจ่ายก็ถูกกักตัวไม่ให้ออกจากโรงพยาบาล บางรายเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตก็ถูกกักศพ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับระบบนำส่งด้วย บางครั้งเกิดอุบัติเหตุแล้วกู้ภัยก็นำส่งโรงพยาบาลเอกชน วงจรเดิมก็จะกลับเข้ามาอีก ฉะนั้นต้องแก้ไขให้ระบบใช้ได้จริง” นายสมชายกล่าว