ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพแนะประชาชนที่เดินทางเข้าร่วมถวายราชสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่าอดน้ำ ขอให้ดื่มน้ำให้ได้วันละ 6-8 แก้วหรือวันละประมาณ 2 ลิตรโดยใช้วิธีการจิบอย่างต่อเนื่อง ลดหรือหลีกเลี่ยงดื่มกาแฟ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ และให้รับประทานผักผลไม้สด นมสด โยเกิร์ต ปลาเล็กปลาน้อย เพื่อเสริมเกลือแร่ให้ร่างกาย ป้องกันการเกิดตะคริว

นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากผลการให้บริการของศูนย์ปฏิบัติการร่วมการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา พบว่ามีผู้เป็นตะคริวทุกวัน ซึ่งตะคริวนี้สามารถเกิดได้ทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีอายุน้อยและเกิดได้ทุกเวลา โดยอาการจะมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงเป็นเวลานาน มักเป็นไม่เกิน 2 นาที บางรายอาจนานถึง 5 นาทีหรือนานกว่านั้น  ส่วนใหญ่มักเกิดที่บริเวณน่อง จะทำให้ปลายเท้าชี้ลง อาการนี้ถึงแม้จะไม่ส่งผลเสียถึงแก่ชีวิต แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ถ้าเกิดระหว่างว่ายน้ำหรือขับรถ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

นพ.วิศิษฏ์ กล่าวต่อว่า ตะคริวส่วนใหญ่เกิดมาจากหลายสาเหตุ อาจเกิดมาจากการกินยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดไขมันในเลือด หรือเกิดมาจากโรคประจำตัวบางโรคเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายแข็งตัว ทำให้การไหลเวียนเลือดบริเวณน่องไม่ดี รวมทั้งการเสียเหงื่อมากจากสภาพอากาศร้อน ร่างกายขาดสารน้ำและความผิดปกติของเกลือแร่ในเลือดต่ำ ได้แก่ แมกนีเซียม แคลเซียม โปแตสเซียม 

ในการป้องกันการเกิดตะคริว ขอแนะนำให้ประชาชนที่เดินทางดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ คือวันละไม่ต่ำกว่า 6-8 แก้วหรือให้ได้วันละ 2 ลิตร โดยให้จิบต่อเนื่อง ซึ่งประชาชนบางคนไม่กล้าดื่มน้ำมากระหว่างเดินทาง เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ปวดปัสสาวะบ่อย ไม่สะดวกเข้าห้องน้ำ ไม่กล้ารบกวนลูกหลาน จึงทำให้ร่างกายขาดน้ำ    

เครื่องดื่มที่ควรลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มระหว่างเดินทาง ได้แก่ ชา กาแฟ เนื่องจากจะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น ร่างกายสูญเสียน้ำได้ง่าย อาหารที่ควรรับประทานเพิ่ม เนื่องจากมีประโยชน์และมีเกลือแร่ประเภทแคลเซียม โปแตสเซียม แมกนีเซียม ได้แก่ นมสด กล้วยหอม โยเกิร์ต ผักโขม ปลาเล็กปลาน้อย เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามวิธีการตรวจสอบตัวเองว่าร่างกายได้รับน้ำเพียงพอหรือไม่ สามารถสังเกตได้จากสีของน้ำปัสสาวะทุกครั้ง หากปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม แสดงว่าร่างกายขาดน้ำ ให้ดื่มน้ำเพิ่มขึ้นจนกว่าจะหยุดกระหายน้ำและสีของปัสสาวะใสขึ้น โดยได้มอบหมายกองสุขศึกษาเผยแพร่ความรู้นี้ทางเว็บไซต์ของ สบส.แล้ว    

ทั้งนี้ เมื่อเกิดอาการตะคริวที่น่อง สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยค่อยๆ ใช้กำลังดันปลายเท้าข้างที่เป็นเข้าหาเข่า โดยค่อยๆ เพิ่มกำลังดัน เพื่อยืดกล้ามเนื้อที่เกร็ง ให้ยืดออกให้อยู่ในความยาวที่ปกติ จนกระทั่งหายปวดประมาณ 1-2 นาที แล้วปล่อยมือ หากยังมีอาการเกร็งกล้ามเนื้อน่อง ให้ทำซ้ำ จนกระทั่งปล่อยมือแล้วไม่มีอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ

ขอบคุณภาพจาก ไทยพีบีเอส