ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอนเรนทร์” เสนอแนวทางแก้ปัญหา “ห้องฉุกเฉิน” แออัด ชี้ ต้องมีแพทย์ประสบการณ์สูงดูแลคนไข้ ระบุจำเป็นต้องวางระบบคัดกรองเข้มข้น-ทำความเข้าใจผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงให้รอ ตั้งแผนกรองรับหลังจากออกจากห้อง ER เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิด

นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต

นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) เปิดเผยว่า ได้นำเสนอแนวทางการปัญหาความแออัดในห้องฉุกเฉินผ่านการเสวนาหัวข้อ “ถกแถลง: ระบบอุบัติเหตุฉุกเฉินที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่11 ต.ค.2559 โดยเป็นเพียงช่องทางหนึ่ง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกโรงพยาบาลจะต้องดำเนินการตาม

นพ.นเรนทร์ กล่าวว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาของระบบสาธารณสุขไทยทั่วประเทศในห้องฉุกเฉินก็คือ ส่วนใหญ่จะให้ผู้ที่มีประสบการณ์น้อยที่สุด ซึ่งหมายถึงแพทย์ที่จบใหม่หรือแพทย์ที่เพิ่งจบปีแรกมาอยู่ในห้องฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์เหล่านี้อาจต้องใช้เวลาในการดูแลคนไข้แต่ละรายนานขึ้น เนื่องจากทักษะและความชำนาญยังน้อย ส่งผลให้ห้องฉุกเฉินแออัด ไม่สามารถระบายคนไข้ออกได้ทันเวลา

“แพทย์เหล่านี้อาจต้องไปอยู่ด้วยเหตุผลหลายข้อ เช่น อาวุโสยังน้อย หรือแพทย์ผู้ใหญ่ไม่สะดวกที่จะมาอยู่ในห้องฉุกเฉินตลอดเวลา หรือแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินมีไม่มากพอ นั่นทำให้แพทย์จบใหม่ต้องรับผิดชอบในการดูแลคนไข้ในห้องฉุกเฉิน”นพ.นเรนทร์ กล่าว

นพ.นเรนทร์ กล่าวว่า ส่วนตัวมีคำแนะนำว่าห้องฉุกเฉินก็คล้ายๆ กับห้องไอซียู คือคนไข้ที่เข้ามามักมีอาการหนัก จำเป็นต้องใช้ทักษะสูงในการรักษา ฉะนั้นจึงควรจัดแพทย์ที่มีความสามารถมากๆ ไปประจำอยู่ในห้องฉุกเฉิน ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่สามารถทำได้ทันที อาจต้องผลิตบุคลากรที่มีความสามารถมารองรับก่อน อาจต้องใช้เวลาไปอีก 10-15 ปี แต่เชื่อว่าหากทำสำเร็จ ปัญหาเรื่องเวลาในห้องฉุกเฉินก็จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

นพ.นเรนทร์ กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งปัญหาในห้องฉุกเฉินก็คือบางครั้งมีคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉินหรือไม่เร่งด่วนเข้ามา นั่นเป็นเพราะประชาชนไม่มีความเข้าใจและต้องการได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน จึงเลือกที่จะมายังห้องฉุกเฉินโดยที่อาการของตัวเองไม่ได้ฉุกเฉินแต่อย่างใด เช่น ไข้ มีอาการไอ ก็มาที่ห้องฉุกเฉิน

“ทางแก้ไขคือต้องทำความเข้าใจกับผู้รับบริการให้ดีว่าเมื่อมาห้องฉุกเฉินก็ต่อเมื่อมีอาการฉุกเฉินจริงๆ มิเช่นนั้นจะยิ่งส่งผลต่อการให้บริการผู้ป่วยที่ฉุกเฉินจริงๆ ซึ่งจะได้รับบริการที่ช้าลง”

นพ.นเรนทร์ กล่าวอีกว่า กรณีที่คนไข้ยังมาห้องฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีประตูหน้าที่ทำหน้าที่คัดกรองอย่างเข้มข้น ผู้ที่ฉุกเฉินจริงก็อาจจะได้เข้าไปพบแพทย์ด้านใน ส่วนผู้ที่ยังไม่เร่งด่วนก็ต้องนั่งรอไปก่อน แน่นอนว่าประชาชนอาจจะรู้สึกว่าทำไมตัวเองไม่ได้รับบริการ ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือในห้องฉุกเฉินยังมีคนไข้ที่ด่วนกว่ารออยู่ ฉะนั้นจึงต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ

“ถ้าห้องฉุกเฉินว่างก็จะให้คนไข้ที่ไม่ฉุกเฉินเหล่านี้เข้าไปตรวจ แต่ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่าต้องรอหน่อย ในต่างประเทศบางคนเป็นไข้ไปตรวจ อาจต้องรอถึงครึ่งวัน หรือ 1 วัน เนื่องจากคนไข้ฉุกเฉินเข้ามาเรื่อยๆ เขาจึงไม่ได้รับการตรวจสักที”นพ.นเรนทร์ กล่าว

นอกจากนี้ ในกรณีคนไข้ขาออกจากห้องฉุกเฉิน หากผู้ป่วยไม่สามารถแอดมิดได้เนื่องจากเตียงของโรงพยาบาลเต็ม ก็อาจต้องมีอีกแผนกหนึ่งที่รองรับผู้ป่วยหนักจากห้องฉุกเฉินออกไปดูแลต่อ ซึ่งแผนกนี้ไม่ใช่ห้องไอซียูแต่จะเป็นจุดผ่องถ่ายให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับการดูแลติดตามอาการอย่างใกล้ชิด แต่อาจจะไม่ใกล้ชิดมากเหมือนห้องไอซียู ซึ่งก็จะช่วยลดปัญหาห้องฉุกเฉินแออัดลงได้

นพ.นเรนทร์ กล่าวอีกว่า ข้อเสนอทั้งหมดไม่ได้พูดถึงการเรียนการสอน และขอยืนยันว่าการให้นักศึกษาแพทย์มาฝึกปฏิบัติงานจริงกับผู้ป่วย (Extern) ในห้องฉุกเฉินมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะแพทย์เหล่านี้ก็จะจบไปเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลตามชุมชนไกลต่างๆ ฉะนั้นจำเป็นต้องมีทักษะในห้องฉุกเฉินด้วยอย่างแน่นอน