ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะทำงานพิจารณาเกณฑ์และจัดสรรงบคุณภาพผลงานบริการปฐมภูมิ สปสช.เขต 4 สระบุรี พัฒนากลไกลขับเคลื่อนบริการปฐมภูมิเขตเมือง ปี 2560 ตัวชี้วัด QOF อาทิ ผู้ป่วยเบาหวานความดันได้รับการคัดกรองโรคไตเรื้อรัง อัตราการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ลดลง อัตราตำบลที่มีผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ ผู้สูงอายุผ่านการอบรม 3 คนขึ้นไปและปฎิบัติงานในพื้นที่ และอัตราการคลอดมีชีพในหญิงอายุ 15-19 ปี

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี จัดประชุมคณะทำงานพิจารณาเกณฑ์และจัดสรรงบคุณภาพผลงานบริการปฐมภูมิ (Quality and Outcome Framework : QOF) ครั้งที่ 1/2560 โดยมี นพ.ประสิทธิชัย มั่งจิตร  รักษาการนายแพทย์ด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สระบุรี เป็นประธานคณะทำงานฯ ซึ่งมีหัวหน้ากลุ่มงานประกันสุขภาพ กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพ และผู้แทนผู้รับผิดชอบงานข้อมูลสารสนเทศจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 8 จังหวัดในพื้นที่ที่เป็นคณะทำงานเข้าร่วมประชุมกว่า 30 คน ร่วมกันจัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานผลงานบริการรายตัวชี้วัด QOF ระดับเขต ปี 2560

นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า การบริหารเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2560  เน้นหลักการสำคัญที่ให้หน่วยบริการประจำและระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System) ต้องสนับสนุนส่งเสริมหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการให้มีศักยภาพในการจัดบริการสาธารณสุข โดยจัดสรรงบบริการผู้ป่วยนอกทั่วไปจำนวน 10 บาทต่อผู้มีสิทธิ เป็นค่าบริการที่จ่ายตามเกณฑ์คุณภาพและผลงานบริการปฐมภูมิ ทั้งบูรณาการกับงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในส่วนงบจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ มาบริหารจัดการจ่ายตามตัวชี้วัดเกณฑ์คุณภาพและผลงานบริการปฐมภูมิในปี 60 ภายใต้คณะทำงานพิจารณาซึ่งมี นพ.ประสิทธิชัย มั่งจิตร เป็นประธานคณะทำงาน

สำหรับเกณฑ์ตัวชี้วัด QOF ปี 60 เพิ่มเติม ประกอบด้วย ผู้ป่วยเบาหวานความดันได้รับการคัดกรองโรคไตเรื้อรัง อัตราการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ลดลง อัตราตำบลที่มีผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ ผู้สูงอายุผ่านการอบรม 3 คนขึ้นไปและปฎิบัติงานในพื้นที่ และอัตราการคลอดมีชีพในหญิงอายุ 15-19 ปี เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ครอบคลุมทุกสิทธิ และได้รับบริการที่ทั่วถึง เป็นการป้องกันความพิการที่เกิดจากโรคเรื้อรังอีกด้วย อีกทั้งส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีสุขภาวะที่ดีขึ้น