ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.ละงู ห่วงนโยบายผลิตแพทย์เฉพาะทาง หาก สธ.มุ่งเน้นหวั่นกระทบผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ชี้ต้องทำให้เกิดความสมดุลในการผลิตแพทย์ ระบุแนวคิดให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางสุขภาพเป็นเรื่องดี หวังอนาคตลดความแออัดในโรงพยาบาลรัฐ

นพ.ปวิตร วณิชชานนท์

นพ.ปวิตร วณิชชานนท์ ผอ.โรงพยาบาลละงู จ.สตูล กล่าวถึงระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศว่า จริงๆ แล้วเราก็ทำอยู่ในรูปแบบการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยทำร่วมกับกรรมการสุขภาพระดับอำเภอ ซึ่งเป็นการทำงานที่ครอบคลุมทุกด้านทั้งผู้ป่วยพิการ ผู้สูงอายุ เด็กออทิสติก โดยได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนอย่างดี ทั้งอาสาสมัคร ไปจนถึงระดับนายอำเภอที่เล็งเห็นความสำคัญของระบบสุขภาพในชุมชน

ทั้งนี้ รูปแบบการให้บริการสุขภาพจะเป็นลักษณะเชิงรุกไปยังชุมชน รวมถึงทำงานด้านการส่งเสริมอาชีพให้กับคนในชุมชนด้วย โดยเราเรียกลักษณะการให้บริการรูปแบบดังกล่าวว่า ปัจจัยกำหนดภาวะสุขภาพ เพราะคนจะสุขภาพที่ดีได้ ก็ต้องมีความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาวะที่ดี สิ่งแวดล้อม ซึ่งเราทำภาพกว้างและได้ผลเป็นอย่างดี โดยเป็นการดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโรงพยาบาลละงู

นพ.ประวิตร กล่าวถึงแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่จะมารองรับระบบการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิว่า แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นเรื่องที่สำคัญในระดับสากลด้วย จะเห็นได้จากนานาประเทศที่เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประจำชุมชน ที่คอยดูแลประชากร

"สำหรับในประเทศไทย นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้ได้ 6,500 คนในระยะเวลา 10 ปีนั้น หากทำได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเท่ากับว่าประชาชนจะมีเจ้าของไข้ที่ชัดเจน และในภายภาคหน้าเมื่อมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวครบทุกชุมชนทั่วประเทศ การบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งระดับชุมชนไปจนถึงระดับจังหวัด ก็คงจะต้องมีน้อยลงหรือปิดตัวลงไปเลย” นพ.ประวิตร กล่าว

นพ.ประวิตร กล่าวอีกว่า ถือเป็นแนวโน้มการพัฒนาที่ดี เพราะจะลดภาระของแพทย์ประจำโรงพยาบาล ที่จะได้มุ่งเน้นการรักษาเฉพาะทางให้มากขึ้น ทั้งการผ่าตัด การรักษาผู้ป่วยเฉพาะด้าน อีกทั้งรูปแบบการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ จะช่วยทำให้ลดความแออัดในโรงพยาบาลของรัฐ และประโยชน์สำหรับคนไข้คือไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ซึ่งต้องนั่งรอคอยพบแพทย์เป็นเวลานานๆ อีก จะทำให้คนไข้ที่มารับบริการที่โรงพยาบาลก็จะเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือคนไข้ที่รอการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว

เนื่องจากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจะคัดกรองคนไข้ และคอยช่วยรักษา ให้คำแนะนำกับประชาชนในชุมชนโดยตรงได้เลย อีกทั้งยังเป็นการคัดกรองโรค รวมถึงป้องกันโรคต่างๆ ในชุมชน เพราะแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจะมีความรู้ด้านโรคภัยในชุมชนนั้นๆ และสามารถวางแผนป้องกัน รวมถึงให้คำแนะนำด้านสุขภาพในชุมชนที่รับผิดชอบได้

ผอ.โรงพยาบาลละงู กล่าวต่อไปว่า ทิศทางการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข และระบบสุขภาพประชาชนในชุมชนก็เป็นเรื่องสำคัญที่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อได้ว่าจะมีความคืบหน้าของนโยบาย แต่ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากังวลคือทิศทางของนโยบายในการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ แพทย์ก็จะไปเรียนหมอทั่วไป หรือไปเรียนแพทย์เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ แพทย์ในปัจจุบันยังไม่ได้สนใจเรื่องของการเรียนเวชศาสตร์ครอบครัวมากนัก ซึ่งในกระแสสังคมแพทย์จะมุ่งไปทิศทางนั้น ทำให้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวซึ่งมีจุดขายน้อยกว่า ไม่มีแพทย์อยากจะเรียนนัก

อย่างไรก็ตาม หากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขต้องการเร่งผลิตแพทย์เฉพาะทางมากจนเกินไป ก็จะทำให้การผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญลดน้อยลงไปด้วย ดังนั้นต้องทำให้เกิดความสมดุลในการผลิตแพทย์

“โรงพยาบาลละงู อยู่ในเขตชนบท ก็มีการตกลงกันว่าใช้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเพียง 1 ทีมก็พอ เพราะโรงพยาบาลละงูมีเแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 2 คนคือผมและแพทย์อีก 1 คน และใช้ทีมเดียวก็เพียงพอกับชุมชนในพื้นที่ที่โรงพยาบาลรับผิดชอบอยู่ รวมถึงได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน ทำให้ไม่เกิดปัญหาในการเดินหน้าการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่” นพ.ประวิตร กล่าวทิ้งท้าย