ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.ชี้ ภูมิทัศน์เรื่องสุขภาพเปลี่ยน ส่งผลผู้เล่นในระบบสุขภาพมีมากขึ้น ระบุ ครม.ไฟเขียว “เขตสุขภาพประชาชน” เป็นผลดีกับการทำงานระดับพื้นที่

ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยในเวทีอภิปรายหัวข้อ “สิทธิประโยชน์หลัก : รูปแบบการกำกับเพื่อความยั่งยืน ด้วยคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความเป็นธรรม” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า ต้องยอมรับว่าภูมิทัศน์เรื่องสุขภาพเปลี่ยนแปลงไปมาก ความหมายของคำว่าสุขภาพขยายกว้างออกไป ฉะนั้นภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องจากเดิมเราเห็นบทบาทกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหลัก ก็จะเริ่มมีส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วม

สำหรับส่วนอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เข้ามาทำเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้ซื้อบริการ หรือหน่วยงานด้านวิชาการอีกหลากหลาย เครือข่ายภาคประชาสังคม ฯลฯ

“ภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือภูมิทัศน์ของระบบสุขภาพในประเทศไทยมันกว้างมากขึ้น และผู้เล่นมีมากขึ้น และหากลงไปในระดับภาค ระดับเขต ระดับอำเภอ ก็จะเห็นภาพความเชื่อมโยงในลักษณะเดียวกันนี้” ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว

ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ตัวอย่างหนึ่งในการอภิบาลระบบแบบเครือข่ายในระดับเขตพื้นที่ คือก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ. ...

สำหรับสาระสำคัญคือจะมีคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) มีอำนาจหน้าที่กำหนดเป้าหมาย ทิศทาง และยุทธศาสตร์ ในการดำเนินการและพัฒนาเกี่ยวกับระบบสุขภาพในเขตพื้นที่ ดำเนินการหรือประสานงานให้เกิดการขับเคลื่อนตามเป้าหมาย ทิศทาง และยุทศาสตร์ รวมถึงเสนอแนะและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสุขภาพในเขตพื้นที่ต่อหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ จัดให้มีทีมเลขานุการร่วมระหว่าง สธ. สปสช. สสส. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หรือกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกำหนดให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเขตสุขภาพเพื่อประชาชนอย่างน้อยทุก 2 ปี และรายงานผลการประเมินต่อ ครม.พร้อมทั้งเผยแพร่ต่อสาธารณะให้ทราบโดยทั่วกัน

“การทำงานร่วมกันเช่นนี้จะเกิดความเป็นทีม เป็นภาพๆ หนึ่งที่เราจะเห็นการอภิบาลระบบลงไปในระดับเขต เช่น เขตภาคเหนือ เขาก็อาจให้เครื่องมือ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ธรรมนูญสุขภาพ ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทในพื้นที่ โดย สธ. สสส. สปสช. ก็จะเข้าไปช่วยให้เกิดความสำเร็จในการดำเนินการ ซึ่งจะเป็นผลดีกับพื้นที่” ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว