ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) พัฒนา “หลักเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญสินค้าไม่ปลอดภัย” ใช้คัดเลือกปัญหาคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นระบบ บนข้อมูลวิชาการ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน พบปัญหา เครื่องสำอางผสมสารเคมีอันตราย, สารเคมีการเกษตรตกค้างในผักผลไม้ปลาเค็ม, น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ, สเตอรอยด์ปลอมปนในผลิตภัณฑ์สุขภาพ และฟอร์มาลีนในอาหาร สู่การแก้ปัญหาคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน

ปัญหาคุ้มครองผู้บริโภครอบตัวเรานับวันจะมีมากขึ้น ในขณะที่องค์กรภาครัฐ และภาคประชาสังคมที่ดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภค มีทรัพยากรทั้งด้านเวลา กำลังคน และงบประมาณจำกัด องค์กรจึงไม่อาจแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ในเวลาเดียวกัน  การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาเพื่อตัดสินใจว่าจะเริ่มต้นแก้ปัญหาใดก่อนหลังจึงมีความจำเป็น และควรคัดเลือกปัญหาบนข้อมูลวิชาการ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาชน

“หลักเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญสินค้าไม่ปลอดภัย”เป็นเครื่องมือที่ ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาฯ พัฒนาขึ้นเพื่อให้มีกระบวนการคัดเลือกประเด็นปัญหาคุ้มครองผู้บริโภค อย่างเป็นระบบ (Issue Prioritization) โดยคัดเลือกจากปัญหาที่มีความสำคัญสูงและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมาก หรือส่งผลกระทบสูงต่อระบบการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งประกอบด้วย 2 ขั้นตอนหลักดังนี้

1) การประเมินความเสี่ยง เพื่อจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย ประกอบด้วย ผลกระทบต่อสุขภาพ, กลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบ,ความถี่ในการใช้ / สัมผัส, ประมาณการประชากรที่สัมผัสและได้รับผลกระทบทางสุขภาพ,มาตรการในต่างประเทศ, มีสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์,ปริมาณที่ผลิต/การใช้

2) การประเมินความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา เพื่อจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย ประกอบด้วย การมีสิ่งทดแทน, ราคาสินค้าทดแทนในฐานะผู้บริโภค, คุณภาพสินค้าทดแทนในฐานะผู้บริโภค, ระดับผลกระทบต่อผู้ผลิต, ความร่วมมือของภาคีผู้บริโภค นักวิชาการ หน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการ และนักการเมือง, เป็นนโยบายการเมือง/รัฐบาล

ในปี 2557 ที่ผ่านมา คคส.ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปใช้ในการจัดลำดับความสำคัญสินค้าไม่ปลอดภัยระดับจังหวัดพบประเด็นที่สำคัญ พบสินค้าไม่ปลอดภัยจากการประเมินความเสี่ยงและความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาจากการประเมินตามหลักเกณฑ์ฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องสำอางผสมสารเคมีอันตราย, สารเคมีการเกษตรตกค้างในผัก ผลไม้ หรือปลาเค็ม, น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ,สเตอรอยด์ปลอมปนในผลิตภัณฑ์สุขภาพ และฟอร์มาลีนในอาหาร

นอกจากนี้พบว่า รายการสินค้าไม่ปลอดภัยจากจัดลำดับความสำคัญตามหลักเกณฑ์ฯในระดับภาค 4 ภาค ส่วนมากมีอันดับสอดคล้องกับรายการสินค้าไม่ปลอดภัยในระดับประเทศ แต่มีรายการสินค้าบางรายการที่มีความแตกต่างกันตามภูมิภาค คือ ภาคกลาง-ตะวันออกพบปัญหาโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ถูกต้อง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบปัญหาผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนและฟอร์มาลีนในอาหาร ส่วนภาคใต้พบปัญหาน้ำดื่มไม่ได้มาตรฐาน

ผลการทำงานนี้นำไปสู่การจัดการปัญหาร่วมกันของทั้งระดับประเทศ ภาค และจังหวัด ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในปีต่อมา โดยบูรณการงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายที่เกี่ยวช้อง ได้แก่ เครือข่ายเภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 4 ภาค ดำเนินการจัดการปัญหาน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพร่วมกัน และแต่ละภาคดำเนินการแก้ปัญหาในสินค้าที่ไม่ปลอดภัยตามปัญหาเฉพาะพื้ของนที่ตนเอง และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาจะการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ตรงกับปัญหาของพื้นที่ รวมทั้งสร้างโอกาสให้เกิดความร่วมมือในการแก้ปัญหาจากภาคส่วนต่างๆที่เข้าร่วมกระบวนการนี้ และเกิดการใช้ทรัพยการในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งด้านงบประมาณและกำลังคนด้านสุขภาพที่มีจำกัดอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ผู้เขียน: ภญ.สรีรโรจน์ สุกมลสันต์ ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) www.thaihealthconsumer.org

ภญ.สรีรโรจน์ สุกมลสันต์