ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อมูลพื้นฐาน:

ตัวเลข 6-7 หมื่นล้านพลูโตดอลล่าร์ต่อปีได้รับการนำเสนอควบคู่กับการกล่าวอ้างว่าบุคลากรของรัฐจำนวนหนึ่งที่ใช้บริการดูแลรักษาสุขภาพเกินความจำเป็น เวียนเทียนเบิกยาไปขาย โดยไม่ค่อยได้นำสถิติตัวเลขการกระทำผิดลู่ทางอย่างชัดเจนมาให้สาธารณะได้รับรู้รับทราบ

ดูเหมือนการเล่นสงครามข้อมูลข่าวสารจะได้ผล เพราะสังคมชาวพลูโตเนี่ยนดูจะตอบสนองด้วยความเงียบ อันมีนัยยะว่ารับทราบ และไม่ได้คัดค้านประการใดกับการที่รัฐพลูโตจะปฏิรูประบบการดูแลรักษาพยาบาลของบุคลากรของรัฐภายใต้แผนอันแยบยลของกรมการบริหารกลางแห่งดาวพลูโต

การโยนหินถามทางผ่านสื่อมวลชนแห่งดาวพลูโตก็ยังคงดำเนินต่อ ด้วยการเสนอว่าจะหาพ่อค้าคนกลางมารับจัดการดูแลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนตัวรัฐเอง โดยอ้างถึงข้อตกลงว่าบุคลากรของรัฐจะต้องได้รับการบริการดูแลรักษาไม่แย่ลงกว่าเดิม ภายใต้วงเงินค่าใช้จ่ายก้อนเดิมที่มีอยู่ต่อปี แถมโฆษณาว่ากลุ่มพ่อค้าคนกลางตกลงตามที่รัฐเจรจา

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ข้อมูลประกอบการพิจารณา:

หากชนชาวพลูโตฉุกคิดกันสักนิดว่าเป็นไปได้ไหม ที่ค่าใช้จ่ายจะลดลงพร้อมกับสิทธิประโยชน์ที่เท่าเดิมหรือจะโม้ว่ามากขึ้น ภายใต้สังคมสูงอายุที่คนแก่ตัวมากขึ้น เจ็บป่วยมากขึ้น และค่าหยูกยา เทคโนโลยีที่ไม่เคยมีราคาลดลงเลยเพราะเป็นไปตามกลไกตลาดโลกและสนธิสัญญาการค้าเสรีในทางช้างเผือก และแนวทางการดูแลรักษาพยาบาลที่ชี้นำโดยกลุ่มดาวตะวันตก พร้อมการโหมกระหน่ำหักค่าบริหารจัดการระบบโดยพ่อค้าคนกลางที่มีกำไรก้อนโตเป็นอาหารอันโอชะ จะ 3% 5% 10% หรือ 30% ที่ต้องหักจากงบตั้งต้นเป็นอย่างน้อย

สังคมทุนนิยมจ๋าของดาวพลูโต กาแฟแก้วนึงต้นทุน 10 พลูโตดอลล่าร์ ยังเห็นขายแก้วละ 100 กว่าพลูโตดอลล่าร์

สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ จากแหล่งผลิต นำมาขายโดยพ่อค้าคนกลางผ่านร้านสะดวกซื้อสุดๆ อย่าง 24/7 ก็เห็นกันชัดเจนว่าราคาเพิ่มไปอีกอย่างน้อย 28% แถมสัดส่วนของสินค้าที่ดีต่อสุขภาพก็น้อยนิด เพราะกำไรน้อยกว่าพวกหวานจัดเค็มจัดมันจัดพลังงานสูงหลายเท่า คนดาวพลูโตก็อ้วนขึ้น โรคเรื้อรังมากขึ้น เพราะทางเลือกในการใช้ชีวิตก็น้อยลงจากการที่กิจการรายย่อยล้มหายตายจากไปจากตลาด

เวิ่นเว้อโดยไม่เอาข้อมูลเชิงประจักษ์มาแบให้ดูก็คงจะกระไรอยู่

ลองมาดูข้อมูลของชาวโลกบ้างว่าพอจะมีอะไรเป็นอาหารสมองสำหรับชาวพลูโตให้ตื่นรู้หรือรู้เท่าทันรัฐพ่อค้า และควรพิจารณาจะออกมาคัดค้านนโยบายที่ไม่ดีหรือไม่

ข้อมูลรายงานของ PwC และ IMF สาขาโลกสีน้ำเงินในปีนี้ แสดงสถิติที่น่าสนใจดังนี้

หนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลของประเทศหนึ่งในกลุ่มดาวตะวันตกที่เพิ่งจัดการเลือกตั้งกันไปหมาดๆ อย่างดุเดือดนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งๆ ที่ใช้ระบบพ่อค้าคนกลางมารับผิดชอบการเบิกจ่ายค่าดูแลรักษาเป็นส่วนใหญ่ หากดูอัตราที่เพิ่มขึ้นพบว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วเพิ่มขึ้นปีละ 11.9% จนทำให้ต้องออกมาตรการควบคุมการใช้ยาและเทคโนโลยีอย่างเข้มงวด พร้อมตรวจสอบการเบิกจ่ายทุกรูขุมขน แต่ก็พบว่าค่าใช้จ่ายก็ยังต้องเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดเพิ่มขึ้นในอัตรา 6.5-7% ต่อปีมาต่อเนื่องกันเกือบ 5 ปีแล้ว และคาดว่าปีหน้าจะเพิ่มขึ้นในอัตราคงเดิม ไม่สามารถลดลงได้

เหตุผลหลักที่เค้าวิเคราะห์คือ ประชากรที่ชราภาพเพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กอปรกับความก้าวหน้าของยา วัคซีน และเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่ราคาค่างวดสูง ไม่ว่าจะเป็นประเภทที่ใหม่แพงแต่ใช้น้อย ใหม่แพงแต่ใช้เยอะ ยกเว้นแต่จะสามารถทำให้มีประเภทใหม่แต่ราคาถูกออกมาในตลาดได้ ในขณะที่อัตราการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลของประเทศทั้งหมดในโลกสีน้ำเงินโดยเฉลี่ยจะสูงกว่า ราว 8.75-9%

สอง ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลโดยรวมในประเทศนั้น 50% เป็นค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลรวมทั้งแผนกผู้ป่วยนอก (มาตรวจที่โรงพยาบาลตามนัดแล้วก็รับยากลับบ้าน) และแผนกผู้ป่วยใน (ต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัว) ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งกลับเป็นค่าใช้จ่ายที่รับบริการนอกโรงพยาบาล เช่น คลินิก ร้านขายยา แถมที่น่าสนใจคือสัดส่วนของการใช้บริการประเภทหลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 24% ในปี ค.ศ.2011 สูงขึ้นเป็น 40% ในปี ค.ศ.2016 อันเนื่องมาจากกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดสำหรับโรงพยาบาล ทำให้ประชาชนต้องตัดสินใจไปใช้บริการนอกโรงพยาบาลแทน แต่ที่เค้ายังอยู่รอดกันได้น้นเพราะมีโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยบริการ เช่น คลินิก ร้านขายยา ที่มีจำนวนเพียงพอที่จะรองรับการไหล่บ่าของจำนวนประชาชนที่หลีกหนีมาหาทางเลือกนี้

สาม ในการเบิกจ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประเทศต่างๆ ในโลกสีน้ำเงินนั้น มาจากกลุ่มโรคที่คล้ายคลึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกทวีป โดยมีกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคทางจิตเวช เบาหวาน โรคทางเดินอาหาร และโรคทางเดินหายใจ เป็นกลุ่มภาระโรคลำดับต้นๆ และหากเจาะลึกถึงจำนวนการเบิกจ่ายทั้งหมดจะพบว่า ความดันโลหิตสูง อ้วน และไขมันสูง มีสัดส่วนร่วมในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลมากที่สุดสามอันดับแรก 64%, 44% และ 41% ตามลำดับ

สี่ ประเทศต่างๆ ในโลกสีน้ำเงิน ยิ่งรวยมากยิ่งมีแนวโน้มที่ประชาชนในประเทศนั้นจะเลือกที่จะไปรับบริการดูแลรักษาพยาบาลในสถานบริการอื่นที่ไม่ใช่ระดับโรงพยาบาล เช่น คลินิกและศูนย์ตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการลงทุนทรัพยากรใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การคัดกรองโรคที่สามารถป้องกัน ชะลอ หรือรักษาได้ การให้ความรู้และสร้างความรู้เท่าทันด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน และการฝึกทักษะจำเป็นในการดูแลรักษาตนเองให้แก่ประชาชน โดยพบว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเหล่านั้นมุ่งดำเนินการในแนวทางดังกล่าวถึง 80%, 71%, และ 69% ตามลำดับ เพื่อหวังที่จะให้ประชาชนโดยรวมสุขภาพดี ดูแลตนเองได้ และลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลโดยรวมในระยะยาว

ประมวลผล:

จากข้อมูลต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ประชาชนดาวพลูโตอาจต้องพิจารณาให้ดีว่า โครงสร้างพื้นฐานในระบบสุขภาพของตนเองนั้นเข้มแข็งพอที่จะรองรับการไหลออกของประชาชนเพื่อไปรับบริการดูแลรักษาพยาบาลนอกโรงพยาบาลหรือไม่

หรือจะเป็นเพียงการหยิบยื่นชิ้นปลาให้แมวไปแทะเหลือแต่ก้าง ก่อนจะตกถึงปากท้องของชาวพลูโต

ชิ้นปลาขนาด 6-7 หมื่นล้านพลูโตดอลล่าร์นั้น เดิมได้รับการเบิกจ่ายไปสู่โรงพยาบาลภาครัฐ ซึ่งมิได้ประกอบการโดยมุ่งผลกำไรเป็นที่ตั้ง แต่ได้งบนั้นมาหล่อเลี้ยง และช่วยเหลือบรรเทาเบาบางการขาดทุนจากกองทุนสุขภาพอื่นๆ สำหรับคนยากจน เพราะช่วงเวลาของการได้รับเงินค่าใช้จ่ายที่มีความแตกต่างกัน

ในขณะเดียวกันคงเห็นชัดเจนถึงแนวโน้มว่า งบทั้งก้อนจะถูกแทะไปเป็นค่าบริหารจัดการ ยิ่งมีโอกาสที่จะไม่เพียงพอในการดูแลระยะยาว และมีแนวโน้มที่พ่อค้าคนกลางจะใช้กลวิธีบีบค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ สวนกระแสความเป็นจริงที่ค่าใช้จ่ายนั้นสูงขึ้นตามสถิติประชากร ความเจ็บป่วย และอัตราเงินเฟ้อที่กระเถิบขึ้นทุกปี มาตรการที่เดาได้ว่าพ่อค้าคนกลางจะพิจารณา อาจหนีไม่พ้นเรื่องการชะลอระยะการเบิกจ่ายให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อนำเงินพลูโตดอลล่าร์ไปหมุนเพื่อการอื่น การจำกัดทางเลือกในการรักษาของบุคลาการทางการแพทย์ รวมถึงจำกัดทางเลือกในการรักษาของผู้ป่วยอันหมายถึงบุคลากรของรัฐที่มารับบริการ และเพิ่มกระบวนการให้มีความซับซ้อนยุ่งยากจนทำให้รู้สึกว่าเป็นอุปสรรคในการรับสิทธิการดูแลรักษาพยาบาล

รัฐ...หากเลือกหนทางดังกล่าวให้บุคลากรชาวพลูโต คงต้องทำใจยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียสมรรถนะการทำงานของบุคลากรในระยะยาว ความภักดีและศรัทธาต่อหน่วยงาน

แนวทางการพัฒนามาตรการหรือนโยบายสาธารณะที่ถูกที่ควรคือ

หนึ่ง "แก้ให้ถูกที่คัน" หากมีบุคลากรของรัฐประพฤติมิชอบในการเบิกจ่าย ก็ดำเนินคดีและไล่เบี้ยให้ครบถ้วน และจะได้เป็นตัวอย่างให้คนอื่นได้เห็นว่า ทำดีได้ดี ทำไม่ดีย่อมต้องได้รับการลงโทษ มิใช่กล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีรายละเอียดชัดเจน แล้วออกมาตรการที่ทำโทษคนทั้งดาวพลูโต อันเนื่องมาจากปลาเน่าส่วนน้อย

สอง "รู้จักประเมินตนเอง และเอาใจเขามาใส่ใจเรา" หากคิดว่าเป็นภาระในการบริหารจัดการ และไม่มีทรัพยากรบุคคลหรือความรู้ความสามารถเพียงพอ ก็ถ่ายโอนให้หน่วยงานอื่นในภาครัฐ มาช่วยในการวางแผนและบริหารจัดการ เพราะปรัชญาที่ถูกต้องคือ คนของเรา เราก็ควรดูแลเค้า ไม่ใช่ผลักคนของเราไปให้คนอื่นดูแลแบบไปเสี่ยงดวงกัน

สาม "ยอมรับสัจธรรม" ว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมไม่มีทางจากลดลง แต่จะสูงขึ้น เพราะเป็นไปตามสถิติประชากร การพัฒนาด้านการรักษาพยาบาล ฯลฯ ดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นควรลงทุนดำเนินการด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรค ให้เข้มข้น เข้มแข็ง โดยไม่ต้องมาอ้างว่าพิสูจน์วัดผลไม่ได้ เพราะมันวัดไม่ได้ในระยะสั้น จะวัดต้องวัดกันระยะยาว และต้องยอมรับด้วยว่า การส่งเสริมป้องกันโรคนั้นสัมพันธ์กับหลายปัจจัยในการดำเนินชีวิต ถ้าจะลงทุนทำ ทำทั้งระดับตัวบุคคล และจัดการปัจจัยแวดล้อมทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพด้วย

สี่ "ร่วมพัฒนาระบบสุขภาพ" โดยร่วมลงทุนงบเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้โรงพยาบาลภาครัฐ รวมถึงระบบบริการระดับปฐมภูมิ ทั้งคลินิก อนามัยหรือเทียบเท่า ร้านขายยา เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการในอนาคตของประชาชน ทั้งนี้จงตระหนักไว้ว่า ดาวพลูโตนั้นคนถืองบนั้นมีหลายคน แต่ละคนล้วนดำรงตนเป็นแต่คอยซื้อบริการ แต่จู้จี้จุกจิกสารพัด ติเก่งแต่ทำไม่เป็น ดังนั้นควรปลดล็อคเรื่องระเบียบที่เกี่ยวข้อง และหาทางมามีส่วนร่วมในการรับรู้ปัญหาหน้างานเสียบ้าง ไม่ควรอยู่แต่บนหอคอยงาช้างดังที่เป็นมา

อ้าว...เสียงนกร้อง

ตื่นขึ้นมาเช้าวันอาทิตย์...ทำไมฝันแล้วมีรายละเอียดเยอะจัง?

แหล่งข้อมูลอ้างอิงสำหรับทำความเข้าใจความฝัน:

1. Behind the numbers: 2017. PwC. Available at: http://www.pwc.com/us/en/health-industries/health-research-institute/behind-the-numbers.html

2. IMF World Economic Outlook, 2016.

ผู้เขียน: ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย