ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศาลปกครองนัดไต่สวน 8 ธ.ค. นี้ เพื่อพิจารณาว่าจะรับฟรือไม่รับฟ้องคดีสหภาพพยาบาลฯ ฟ้องขอให้ ก.พ. เยียวยา กรณีเปลี่ยนระบบ "ซี" เป็นระบบ "แท่ง" แล้วทำให้เงินเดือนแท่งวิชาการและแท่งทั่วไปเหลื่อมล้ำกัน ด้านสหภาพพยาบาลเพิ่มคำขอต่อศาลเกี่ยวกับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขอีก 3 ข้อ ให้มีส่วนร่วมกำหนดค่าตอบแทนตามค่างานและคืนสิทธินับอายุราชการพนักงานของรัฐ

น.ส.มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยความคืบหน้ากรณียื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 ขอให้มีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และพวกรวม 9 คน อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) เลขาธิการสำนักงาน ก.พ. ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น เพิกถอนกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเงินเดือน ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนและค่าตอบแทน ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพข้าราชการพลเรือนสามัญที่แตกต่างจากข้าราชการกลุ่มอื่นๆ โดยระบุว่าศาลปกครองได้นัดไต่สวนครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 ธ.ค. 2559 นี้ 

อย่างไรก็ตาม การที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง โดยมีผลในวันที่ 1 ต.ค. 2559 ก็ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนระหว่างข้าราชการแท่งทั่วไปและแท่งวิชาการยิ่งกว่าเดิม ทำให้ตนได้ยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเมื่อวันที่ 27 และ 31 ต.ค. 2559 รวมคำขอทั้งหมด 22 ข้อ แบ่งเป็นคำขอที่เกี่ยวกับข้าราชการพลเรือนทั้งแท่งทั่วไปและแท่งวิชาการรวม 19 ข้อ และเพิ่มคำขอเกี่ยวกับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขอีก 3 ข้อ โดยเฉพาะกลุ่มพยาบาลที่เป็นบุคลากรมากที่สุดของข้าราชการพลเรือนและได้รับผลกระทบจากการบริหารงานบุคคล

"ในภาพรวมของ 19 ข้อคือความเหลื่อมล้ำของเพดานเงินเดือนข้าราชการ เดิมในระบบ "ซี" ข้าราชการที่อยู่ในตำแหน่งเท่ากัน มีเพดานเงินเดือนเท่ากัน แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นระบบ "แท่ง" ในปี 2551 ทำให้ข้าราชการแท่งวิชาการ ระดับชำนาญการ มีเพดานและฐานในการคำนวณ (ค่ากลาง) สำหรับเลื่อนเงินเดือนต่ำกว่าข้าราชการแท่งทั่วไป โดยข้าราชการประเภทวิชาการ ซี 7 ถูกรวบลงไปรวมกับซี 6 ในตำแหน่งระดับชำนาญการ ส่วนข้าราชการซี 7 ประเภททั่วไป ถูกรวบขึ้นไปรวมกับซี 8 ในตำแหน่งระดับอาวุโส ทำให้ข้าราชการประเภทวิชาการ มีเพดานเงินเดือนต่ำกว่าประเภททั่วไปทั้งๆ ที่เคยเป็นข้าราชการซี 7 เท่ากันก่อนเข้าแท่ง นี่คือสิ่งที่เราจะไปให้ข้อมูลแก่ศาลเพื่อขอให้มีการเยียวยา" น.ส.มัลลิกา กล่าว

น.ส.มัลลิกา กล่าวอีกว่า การที่ ก.พ.ออกหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งเมื่อ 1 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์ก็คือคนที่อยู่ในแท่งทั่วไป เดิมจาก ซี 7 ที่เข้าแท่งวิชาการ เงินเดือนตันที่ 43,600 บาท ขณะที่แท่งทั่วไป ขึ้นไปสุดที่ 54,000 บาท พอมีคำสั่งนี้ออกมายิ่งเพิ่มเพดานขึ้นไปอีกเป็น 69,000 บาท แต่แท่งวิชาการขึ้นไปถึงแค่ 58,000 บาท ยิ่งห่างออกไป เป็นการซ้ำเติมข้าราชการในแท่งวิชาการเข้าไปอีก นี่คือความเหลื่อมล้ำในกลุ่มข้าราชการพลเรือนด้วยกันเอง

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการเพิ่มคำขอเกี่ยวกับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขอีก 3 ข้อนั้น จะอยู่ในข้อที่ 18-20 ของคำฟ้อง ประกอบด้วย

ข้อที่ 18 ขอให้มีตัวแทนกลุ่มผู้ฟ้อง มีส่วนร่วมในการทบทวน/แก้ไข/เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การกำหนดตำแหน่งผู้บริหารองค์กร ให้ทุกวิชาชีพเข้าสู่ตำแหน่งบริหารอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และควรส่งเสริมให้มีการตั้งกรมพยาบาล เพื่อเป็นกรมที่มีผู้บริหารเฉพาะสายงานวิชาชีพโดยตรง เพราะพยาบาลมีจำนวนมากที่สุดในกระทรวงสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องขยายโอกาสความก้าวหน้าและขยายสายงานเพื่อรองรับการบริการประชาชนอย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ ยังขอให้ทบทวน/แก้ไข/เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์กำหนดระบบความก้าวหน้าของกลุ่มพยาบาลวิชาชีพให้เหมาะสมตามค่างานอีกด้วย

ข้อ 19 ขอให้มีตัวแทนกลุ่มผู้ฟ้อง มีส่วนร่วมทบทวน/แก้ไข/เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนทุกวิชาชีพ โดยการวิเคราะห์ค่างานของแต่ละวิชาชีพ หลักเกณฑ์ค่าตอบแทนพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่กันดาร โดยเสมอภาคและเท่าเทียมกันทั้งระบบ รวมถึงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือนตามข้อมูลที่เป็นจริงกับกลุ่มวิชาชีพพยาบาล เนื่องจากมีความตรากตรำลำบากในการปฏิบัติงาน เช่น มีเวลาการทำงานไม่ปกติ การพักผ่อนนอนหลับไม่เป็นปกติ เสี่ยงต่อการติดโรค เสี่ยงอุบัติเหตุจากการทำงาน ต้องรองรับการดูแลผู้ป่วยและญาติตลอด 24 ชั่วโมง

และ ข้อ 20 ขอให้คืนอายุราชการแก่พนักงานของรัฐตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2543-1 เม.ย.2547 ตามหนังสือเวียนกระทรวงสาธารณสุขที่ สธ0201.031/898 ให้มีการนับระยะเวลาการเป็นพนักงานของรัฐเพื่อคำนวนบำเหน็จบำนาญ ให้จ่ายเงินชดเชยเป็นบำเหน็จโดยคำนวณจากอัตราเงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณด้วยระยะเวลาราชการที่เป็นพนักงานของรัฐเป็นจำนวนปี ขอให้ทบทวนการปรับเพิ่มเงินเดือนของข้าราชการทุกระดับ ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

"อีก 3 ข้อที่เพิ่มมาในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข เพราะว่าพยาบาลเป็นบุคลากรที่มากที่สุดในกระทรวง ที่จะไปให้ข้อมูลศาลคือเราขอเป็นกรมการพยาบาล เพราะว่ามีทุกกรมในกระทรวงสาธารณสุข แต่ทำไมถึงไม่มีกรมการพยาบาลเพื่อที่เราจะได้ทำนโยบาย บริหาร มีอัตรากำลังและมีสิทธิเข้าไปเป็นผู้บริหาร รวมทั้งเรื่องค่าตอบแทนตั้งแต่ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 11 แต่ก่อนสมมติหมอได้ค่าโอที 900 บาท พยาบาลได้ 500 บาท ต่อมาเพิ่มให้หมอ 1,100 บาท พยาบาลก็ได้ 600 บาท ต่อมาพอเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้ 2,200 บาท/เดือน พอฉบับที่ 4 ปี 2550 เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในพื้นที่ทุรกันดารกระโดดขึ้นมา 60,000 - 70,000 หมื่นบาท แต่พยาบาลไม่ได้ พอไปเรียกร้องก็ได้มา 1,800 บาท ลองคิดดูว่าห่างกันกี่เท่า อันนี้เราก็จะไปพูดให้ศาลฟังว่าเป็นแบบนี้ หรือเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเมื่อทำงานในพื้นที่อันตรายก็ได้ไม่เท่ากัน ทั้งที่ชีวิตของคนควรมีค่าเท่ากัน แต่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างทหารตั้งแต่นายพลถึงพลทหารได้เดือนละ 2,500 เท่ากัน แต่พยาบาลที่ใต้ได้ 1,000 บาท เภสัชกรได้ 5,000 บาท หมอได้ 10,000 บาท" น.ส.มัลลิกา กล่าว

ทั้งนี้ การไต่สวนในวันที่ 8 ธ.ค.2559 เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลปกครองว่าจะรับหรือไม่รับฟ้องในคดีนี้